ครั้งแรกของไทย...วิศวะมหิดล ผ่านการตรวจรับรองเบื้องต้นจาก ABET ถึง 6 หลักสูตร คาดได้รับมาตรฐานโลก ส.ค. 2565 - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ครั้งแรกของไทย...วิศวะมหิดล ผ่านการตรวจรับรองเบื้องต้นจาก ABET ถึง 6 หลักสูตร คาดได้รับมาตรฐานโลก ส.ค. 2565


 เป้าหมายสำคัญของการยกระดับการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยให้ก้าวสู่มาตรฐาน ABET ระดับโลกและทัดเทียมเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศนั้นใกล้เป็นจริง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยความคืบหน้าได้ผ่านการตรวจรับรองเบื้องต้นในคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก ตามมาตรฐาน ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) สหรัฐอเมริกาแล้ว รวดเดียวถึง 6 หลักสูตร มากที่สุดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คาดว่าจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ในเดือนสิงหาคม 2565 และพร้อมตอบสนองนโยบายกระทรวง อว.ในการเป็นโมเดลตัวอย่างและแบ่งปันประสบการณ์พัฒนาการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อก้าวไปด้วยกัน เพิ่มศักยภาพเยาวชนไทยและวิศวกรไทยให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับโลก

 

          


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกปัจจุบันหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ ของประเทศชั้นนำทั่วโลก ทั้งในสหรัฐ ยุโรปและเอเชีย ต่างพัฒนาและได้การรับรองมาตรฐานสากลจากระบบ ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ตลาดแรงงานและข้อกำหนดทางวิชาชีพสากล ดังนั้นการที่ 6 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ผ่านการตรวจรับรองเบื้องต้นในคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานโลกจาก ABET จึงนับเป็นครั้งแรกของไทยและจะเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยในการยกระดับให้เป็นที่ยอมรับเท่าเทียมกับนานาชาติ นอกจากนี้ยังจะเป็นโมเมนตั้ม หรือแรงเหวี่ยงสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สู่โลกใหม่ ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่ถาโถมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีดิจิทัลทวิน  Deep Tech การสื่อสาร 5G-6G  Metaverse อินเตอร์เน็ตเจนเนอเรชั่นที่ 3 ควอนตั้มคอมพิวติ้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า

        


 ทั้งนี้ 6 หลักสูตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ผ่านการตรวจรับรองเบื้องต้นด้านคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐาน ABET มีดังนี้

            1.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

            2.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี

            3.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล

            4.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

            5.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา

            6.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ)

              รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์  เปิดเผยว่า คณะวิศวะมหิดลได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการตรวจประเมินจากคณะกรรมการ ABET มาตั้งแต่ปี 2560 และเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก ABET ภายในปี พ.ศ. 2565” เมื่อเดือนมกราคม 2563 โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม  มุ่งส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลักดันหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ไทยให้ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ และสมรรถนะในการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากล ตลอดจนสามารถโอนหน่วยกิต และเคลื่อนย้ายไปทำงานในภูมิภาคอาเซียนและนานาประเทศได้ทั่วโลก        

            ปัจจัยที่ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผ่านการตรวจรับรองเบื้องต้นในคุณภาพการศึกษาจากคณะกรรมการ ABET มาจากศักยภาพและคุณภาพในการจัดการศึกษา ซึ่งมีวงรอบการติดตาม การประเมินและปรับปรุงในทุก ๆ ปี โดยรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วน ทั้งจากนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่าที่จบการศึกษาไปแล้ว รวมถึงข้อคิดเห็นจากผู้ใช้บัณฑิต นายจ้าง ภาครัฐและธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อความทันสมัยและความเป็นสากลของหลักสูตร อีกทั้งผลลัพธ์ของการศึกษาที่สะท้อนมาในคุณลักษณะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานของ ABET 8 ด้าน คือ 1. Students 2. Program Educational Objectives 3. Student Outcomes 4. Continuous Improvement 5. Curriculum 6. Faculty 7. Facilities และ 8. Institutional Support 

 

           ส่วนแผนงานในก้าวต่อไป คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงทุกหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อรักษามาตรฐานทางการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ในระดับโลก และเตรียมการตรวจรับรอง เมื่อครบวงรอบในอีก ปีข้างหน้า อีกทั้งพร้อมให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอื่น ๆ ภายในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวง อวเพื่อผลักดันให้ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ABET ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad