“น้ำ” คือทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง ทั้งใช้ในการอุปโภค บริโภค ในครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการน้ำที่ดีย่อมทำให้มีทรัพยากรน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ นวัตกรรม 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' นับเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำแบบสมดุลที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม จากความแปรปรวนของสภาวะอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
วันนี้ พาขึ้นเหนือไปจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อชมความสำเร็จของ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงพชร ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ที่นอกจากจะเป็นหมู่บ้านต้นแบบ “ชุมชนคนเลี้ยงหมู” แล้ว ที่นี่ยังเดินหน้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน จนปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม
พิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร เล่าที่มาว่า โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ประสบปัญหาการระบายน้ำท่วมขังจากน้ำฝนในบริเวณพื้นที่โครงการฯ มาอย่างยาวนาน ชาวชุมชนจึงได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้าวิธีการแก้ปัญหา จนมาพบกับรูปแบบการบริหารจัดการน้ำผิวดินสู่ใต้ดิน (Ground Water Recharge) หรือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้งแบบบ่อปิดและแบบบ่อเปิด ที่ช่วยลดปัญหาปริมาณน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ทำให้สามารถนำพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
การดำเนินโครงการฯ ตามกลยุทธ์ “ขีด คิด ร่วม ข่าย” จากการนำ “ขีด” ความสามารถของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบน้ำมาขับเคลื่อนโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนของผู้บริหารหมู่บ้านฯ ร่วมกับทีมงานของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่มาร่วม “คิด” นำแนวคิดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยการทำธนาคารน้ำ ที่ช่วยลดปัญหาปริมาณน้ำท่วมขัง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำและนำพื้นที่กลับมาใช้ประโยชน์ ผ่านการมีส่วน “ร่วม” ของทีมงานและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ที่ร่วมกันสนับสนุนร่วมถึงวางแผนงานโครงการ และร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือ “ข่าย” ความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ
โครงการฯนี้ เริ่มต้นจากการศึกษาดูงานความสำเร็จของโครงการธนาคารน้ำใต้ดินของ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดต่อไปยังเกษตรกร ขณะเดียวกัน ได้เชิญวิทยากรจาก อบต.วังหามแห จ.กำแพงเพชร มาบรรยายให้ความรู้ และทำ Work shop ร่วมกันทั้งชาวชุมชน เกษตรกร และทีมงาน รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า มาให้คำแนะนำโครงการฯ กระทั่งสามารถสร้างระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้งรูปแบบบ่อปิดและแบบบ่อเปิด รวม 10 บ่อในพื้นที่โครงการ
“ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นการบริหารจัดการน้ำใต้ดินแบบครบวงจร ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำหลาก และยังช่วยป้องกันการสูญเสียสมดุลของน้ำใต้ดิน หลังจากดำเนินโครงการฯนี้แล้ว สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรให้กับชุมชน ทั้งยังสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับเกษตรกร ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การบริหารการจัดการกักเก็บน้ำใต้ดิน ถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของหน่วยงาน และน้องๆนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ และวางแผนต่อยอดสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้หลักสูตรชลกร ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชรต่อไป” พิเชษฐ์ กล่าว
การดำเนินโครงการตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 10 บ่อ มีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรในโครงการหมู่บ้านฯ ได้ถึง 50 ไร่ นอกจากนี้ ยังขยายผลสู่ “โครงการ 1 บ้าน 1 บ่อ” ส่งเสริมการสร้างบ่อระบบปิดในบ้านเกษตรกรในโครงการฯ นำร่องแล้ว 12 ครัวเรือน และวางเป้าหมายขยายโครงการฯ ให้กับเกษตรกรทั้งหมู่บ้านสุกรพันธุ์และสุกรขุนครบทั้ง 40 ครัวเรือน ภายในปี 2567 นี้
วันนี้หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร สามารถแก้ปัญหาของพวกเขาด้วยนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน โดยการฝากน้ำไว้กับดิน ที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และป้องกันปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีน้ำใช้ในการเลี้ยงสุกรและการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ช่วยสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรม
หมู่บ้านแห่งนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนของเครือซีพีและซีพีเอฟ ทั้งด้านการสร้างอาชีพมั่นคงยั่งยืนจากการเลี้ยงหมู และมีรายได้จากการเพาะปลูกพืช ปลูกผักกระเฉดน้ำ เลี้ยงปลาดุก-ปลาสวาย และปุ๋ยมูลสุกรตากแห้ง ที่เป็นอาชีพเสริม ดังที่ดำเนินการมาตลอด 45 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ที่นี่เป็น “หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย พัฒนาก้าวไปอย่างยั่งยืน”./
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น