ครบรอบ 30 ปี สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ครบรอบ 30 ปี สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

 


เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จัดงานสัมมนาในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของสมาคมฯ ในหัวข้อ “30 years of ThaiBMA : A Journey towards a fair and efficient bond market” ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยและแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคต รวมถึงกลยุทธ์การระดมทุนและการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดงานรวมกว่า 250 ท่าน


คุณสมหมาย ภาษี ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวเปิดงานและได้เล่าถึง “การก้าวสู่ปีที่ 30 ของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยขอบคุณทุกหน่วยงานและทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย ซึ่งเติบโตขึ้นมากภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ตลาดตราสารหนี้กลายเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และกล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ ในทุกภาคส่วนในการสร้างตลาดที่มีเสถียรภาพ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีธรรมาภิบาล (governance) ในตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ ”พัฒนาการตลาดตราสารหนี้เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของตลาดการเงินไทย” ว่าภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ เพิ่มเติมจากภาคธนาคารและตลาดทุน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ภาคธนาคารสามารถบริหารสภาพคล่องได้อย่างเหมาะสม และภาคเอกชนมีทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลาย รวมถึงตราสารหนี้ประเภท ESG หรือ Green transition เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ยังเน้นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการลดขั้นตอนที่ซับซ้อนรวมถึงปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค พัฒนาตราสารประเภทใหม่ๆ และยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแลและตรวจสอบ เพื่อทำให้การลงทุนและระดมทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน


จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “จากวันวาน ... ถึงวันนี้ สู่แนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในทศวรรษหน้า” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและ ThaiBMA ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทย

คุณชนันภรณ์ พิศิษฐวานิช รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างจริงจัง และทำให้มีการจัดตั้ง สบน. โดยมีภารกิจหลักในการจัดหาเงินกู้ให้กับรัฐบาล และบริหารหนี้สาธารณะให้มีต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อมทั้งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืนให้กับภาครัฐและเอกชน สบน. ได้มีบทบาทในการพัฒนาตราสารหนี้ใหม่ๆ โดยรัฐบาลไทยเป็นภาครัฐรายแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) ในปี 2563 และกำลังจะออก Sustainability-linked bond ซึ่งเป็นพันธบัตรที่จ่ายอัตราผลตอบแทนเชื่อมโยงกับเป้าหมายความยั่งยืนอีกด้วย ในอดีตที่ผ่านมา สบน. ได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์กรค้ำประกันเครดิต หรือ CGIF เพื่อช่วยส่งเสริมการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียน การดำเนินการในระยะข้างหน้าของ สบน. คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของนักลงทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่ม และการทำให้ตลาดตราสารหนี้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น


คุณไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวถึงบทบาทของ กลต. ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการออกหุ้นกู้ ให้เป็นแหล่งระดมทุนที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ มุ่งพัฒนาตลาดให้ตอบโจทย์ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุน เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการดูแลนักลงทุน การจัดทำ Regulatory guillotine เพื่อลดภาระความซ้ำซ้อนของกฎเกณฑ์กำกับดูแล ปรับปรุงนิยามผู้ลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของหลักทรัพย์ และส่งเสริมการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านตราสารหนี้ ESG รวมถึงการเพิ่มความรู้และความเข้าใจของผู้ที่ทำหน้าที่ในตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายเพื่อพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์การมุ่งสู่ตลาดทุนสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงบทบาทของ ธปท. ที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ในอดีต โดยที่บทบาท ธปท. จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงินและเสริมสร้างเสถียรภาพในตลาดเงินและตลาดพันธบัตร ธปท. ได้จัดตั้งระบบ Primary Dealer ขึ้นตั้งแต่ปี 2542 ทำให้มีการเสนอราคาซื้อขายของพันธบัตรที่ทำให้เกิด Benchmark ของตลาด ส่งเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินผ่านการพัฒนาตลาดซื้อคืน (Repo) โดยร่วมกับ ThaiBMA ในการจัดทำสัญญามาตรฐานฉบับภาษาไทย ทั้งนี้ ธปท. ยังได้มีการออกพันธบัตร ธปท. ระยะสั้นเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของผู้ลงทุน และเร็วๆนี้ได้ริเริ่มพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR เพื่อนำไปใช้อ้างอิงในธุรกรรมอื่น ๆ ของภาคธุรกิจ ซึ่งนับเป็นการสร้างฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ในระยะยาวต่อไป

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การครบรอบการดำเนินงาน 30 ปีในวันนี้ไม่ใช่เพียงในฐานะองค์กรเท่านั้น แต่ถือเป็นความสำเร็จของผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งหมด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ThaiBMA ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกผลักดันและประสานงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีมาตรฐาน และได้พัฒนานวัตกรรม เครื่องมือ และ ข้อมูลต่างๆให้ผู้ร่วมตลาดใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ออกตราสารหนี้สามารถระดมทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสมในเวลาที่ต้องการ และนักลงทุนสามารถลงทุนโดยได้ผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง ทั้งนี้ ThaiBMA ยังมุ่งมั่นในการเป็น SRO เพื่อกำกับดูแลสมาชิกให้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนและลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ตลาดตราสารหนี้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สำหรับเสวนา ในหัวข้อ“กลยุทธ์การระดมทุนและการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารภาคเอกชนจำนวน 4 องค์กร

คุณจันทนิดา สาริกะภูติ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) กล่าวถึงแนวทางการระดมทุนของ SCG ผ่านการออกหุ้นกู้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีสัดส่วนการระดมทุนจากหุ้นกู้ในประเทศถึง 75% จากแหล่งเงินทุนทั้งหมด ซึ่งการออกหุ้นกู้อย่างสม่ำเสมอและโปร่งใสช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้ SCG สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนและระดมทุนได้ในต้นทุนที่เหมาะสม ในด้านความยั่งยืนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนถือเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ ซึ่ง SCG ได้พยายามพัฒนา "Low carbon cement" และมีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ Zero Carbon Emission ในอนาคต อีกทั้ง SCG ต้องเผชิญความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่นโยบาย Net Zero โดยจะต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อผนวก ESG เข้ามาในแผนดำเนินงานขององค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเพื่อสอดรับกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงของโลกและความคาดหวังของนักลงทุน

คุณนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) กล่าวว่า CPN เริ่มออกหุ้นกู้ตั้งแต่ปี 2543 เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายโครงการใหญ่ ๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น การพัฒนาศูนย์การค้า อีกทั้งยังผนวกกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรเข้ากับโครงสร้างทุน และเชื่อมโยงไปกับแผนการดำเนินงานอย่างยั่งยืนของบริษัท ปัจจุบันมีการระดมทุนผ่าน ESG Financing คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัท เช่น Green Loan/Bond และ Sustainability-linked loan/bond ซึ่งสามารถบริหารจัดการภาระหนี้และต้นทุนในการกู้ยืมได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีการวัดผลเทียบกับแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทและความท้าทายสำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย อีกทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี จะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนด้าน ESG ได้มากขึ้นและช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ไทยได้อย่างยั่งยืน

คุณชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ได้กล่าวว่าตราสารหนี้เป็นเครื่องมือสำคัญของการลงทุน และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับพอร์ตการลงทุน ซึ่งปัจจุบันตราสารหนี้มีสัดส่วนกว่า 50% ของสินทรัพย์ของกองทุนรวมทั้งหมด สำหรับการลงทุนผ่านกองทุน ThaiESG มีความท้าทายเรื่องของอุปทานที่มีจำกัดและการสนับสนุนหรือแรงจูงใจด้านภาษีให้กับนักลงทุนซึ่งจะทำให้ตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเติบโตขึ้น ส่วนความท้าทายสำหรับนักลงทุนคือการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีความเสี่ยงหลากหลาย และต้องใช้การคัดกรองอย่างรอบคอบ รวมไปถึงการจัดการสภาพคล่องรองรับกรณีตลาดผันผวน

คุณแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยของตลาดรวม และยังขาดการกระจายตัวในภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก อย่างไรก็ตามการสนับสนุนของหน่วยงานกำกับ เช่น การออกแนวทางบันทึกบัญชีของสภาวิชาชีพบัญชี การประกาศหลักเกณฑ์ของ กลต. ว่ากองทุนสามารถลงทุนในตราสารหนี้ SLB ได้เหมือนตราสารหนี้ทั่วไปโดยไม่ถือเป็น structure note ซึ่งทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น ทั้งนี้ การสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ และความมั่นใจในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนยังต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นความท้าทายสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

การเสวนานี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการผลักดันและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนและลงทุนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจ รวมถึงกลยุทธ์การดำเนินการของแต่ละองค์กรที่ผนวกประเด็นเรื่องความยั่งยืนเข้ามาในกระบวนการดำเนินงานขององค์กร

ทั้งนี้ ThaiBMA ได้จัดทำหนังสืออนุสรณ์บันทึกที่มาและเส้นทางของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา เผยแพร่ทางหน้าเว็บไซด์ของสมาคม โดยสามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่: https://www.thaibma.or.th/EN/About/ThaiBMA30years.aspx#


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad