บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ”

  


สืบเนื่องจากข่าว พนักงานสอบสวน บก.ป ได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก นาย ษ. หรือ ทนาย ต. ต้องหา คดีฉ้อโกง ฟอกเงิน และ สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓(๑๘) มาตรา ๕ มาตรา ๙ วรรคสองและมาตรา ๖๐ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ โดยคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนได้บรรยายว่า การกระทำของนายทนาย ต .ผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรับปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่นั้น

 ทำให้สังคมงุนงงกับข้อหา “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ”ว่า มีด้วยหรือ ?

 มาดูข้อกฎหมายในเรื่องนี้กัน

 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”

          มาตรา ๓๔๑ ผู้ใด โดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท

หากจะพูดให้เข้าใจง่าย “ ฉ้อโกง” คือ “หลอกลวงผู้อื่นแล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอก”

         ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น :

  มาตรา ๓๔๒ ถ้าในการกระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง” ผู้กระทำ

            (๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ

            (๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง

              ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         ฉ้อโกงประชาชน :

 มาตรา ๓๔๓ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         ถ้ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน” ดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ (๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ (๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง

 ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ ๖ เดือนถึง ๗ ปี และปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทถึง๑๔๐,๐๐๐ บาท

 มาตรา ๓๔๘ ความผิดในหมวดนี้เป็น “ ความผิดอันยอมความ” ได้ ยกเว้น ความผิดตามมาตรา ๓๔๓ ( ฉ้อโกงประชาชน )

  มีข้อสังเกตว่า เมื่อความผิดฐาน “ ฉ้อโกง” ( ยกเว้นความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ) เป็น “ ความผิดอันยอมความได้แล้ว ” ผู้เสียหายจะต้อง “ ร้องทุกข์” ภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุความ ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

 ไม่เห็นจะมี “ ฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ” เลย แล้ว “ ฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ” มาจากไหน ?

 “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” นั้นจะอยู่ใน “กฎหมายฟอกเงิน” ซึ่งเป็นมาตรการในการดำเนินคดีกับผู้โอน รับโอน ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด และการยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด

 ทั้งนี้ คำว่า “ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” นั้นอาจมีความหมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดก หรือ ผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วกระทำการฉ้อโกง โดยการหลอกลวง แล้วเอาไปซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไปจำนวนหลายครั้งหลายคราเป็นอาจิณ

 “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” บัญญัติอยู่ใน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ อันเป็นการผสมผสานระหว่าง “กฎหมายอาญา” ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป และ กฎหมายเฉพาะ ( พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรม และเป็นการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

     กระทำผิดฐานฉ้อโกง กี่ครั้ง ? จึงจะถือว่า “เป็นปกติธุระ”

     ประมวลกฎหมายอาญา และ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ ไม่ได้บัญญัติ บทนิยามความหมายของ คำว่า “ปกติธุระ” หรือ “ฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ”ว่ามีความหมายอย่างไร แล้วจะตีความอย่างไรว่าเป็น “ปกติธุระ”

 สำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกา ได้เคยมีเอกสารความรู้เกี่ยวกับการแบ่งประเภทความผิดอาญา

 “ ความผิดเป็นปกติธุระ” คือ ความผิดที่ประกอบไปด้วยการกระทำที่มีพฤติกรรมการกระทำ

บ่อยๆ ซ้ำๆ จึงจะเข้าเป็นองค์ประกอบความผิดในความผิดฐานนั้นๆ เช่น ประพฤติตนเป็น

ปกติธุระ เป็นผู้จัดหาที่พำนัก ที่ซ่อนเร้น หรือที่ประชุมให้บุคคลซึ่งตนรู้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๔

“ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” เป็น “ ความผิดอาญา” ที่อาจเข้าข่ายผิด “กฎหมายฟอกเงิน”ด้วย

 คำว่า “ ปกติธุระ” หมายถึง กระทำซ้ำๆ กัน มากกว่า ๑ ครั้ง หรือ กระทำความผิดเป็น

สันดาน ในลักษณะที่ “จะทำต่อๆไป” และ เจตนาจะ “ ทำอย่างสม่ำเสมอ”

 เปรียบเทียบความผิดและโทษ :

“ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” : ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๕, มาตรา ๙ วรรคสอง, มาตรา ๖๐ คือ จำคุกตั้งแต่ ๑ - ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐- ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่โทษความผิดฐาน “ฉ้อโกง ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ จำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๖๐,๐๐๐ บาท

ส่วนความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน” ตามมาตรา ๓๔๓ มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 จะเห็นได้ว่า “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” : ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖๐ มีโทษหนักกว่า “ ฉ้อโกง ” ตามประมวลกฎหมายอาญา

      มาดูกันว่า ความผิดใดจะเป็น “ ความผิดมูลฐาน” ในอันที่จะเข้ากฎหมายฟอกเงิน

     พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒

 มาตรา ๓ บทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” มี ๒๑ มูลฐาน

(๑) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

(๒) ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ

(๓) ความผิดเกี่ยวกับการ “ ฉ้อโกงประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการ “ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ( หรือ แชร์ลูกโซ่ )

(๔) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทำโดยกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น

(๕) ………………..

        (๑๘) ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา “ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ”

จะเห็นได้ว่า “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ" และ “การฟอกเงิน” มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการ “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” นั้น มักจะมีการหมุนเวียนทรัพย์สินอย่างซับซ้อน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลียงการติดตามและปิดบังแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม

 ส่วนการ “ ฟอกเงิน” เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือแปรรูปทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ฉ้อโกง เพื่อให้ดูเหมือนเป็นทรัพย์สินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระหนี้

 พฤติกรรมที่อาจเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า ความผิดฐาน “ ฉ้อโกง” ตามกฎหมายอาญา อาจเกี่ยวข้องกับการ “ ฟอกเงิน” เช่น

(๑) “ การโอนเงินผ่านหลายบัญชี” เมื่อลูกหนี้ทำการฉ้อโกงและโอนเงินผ่านบัญชีหลายชั้น เพื่อกระจายเงินและทำให้ติดตามแหล่งที่มายากขึ้น เจ้าหนี้ควรตรวจสอบการโอนเงินที่มีลักษณะซับซ้อน

(๒) “การลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ” การใช้เงินที่ได้จากการฉ้อโกงเพื่อซื้อทรัพย์สินหรือธุรกิจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้กระทำการฟอกเงินใช้เพื่อปกปิด ที่มาของเงิน เจ้าหนี้ควรระวังเมื่อลูกหนี้มีการซื้อทรัพย์สินในลักษณะนี้

(๓) การสร้างธุรกรรมปลอม การสร้างธุรกรรมปลอมเป็นการกระทำที่พบได้บ่อย โดยผู้ที่กระทำการฟอกเงินอาจสร้างธุรกรรมทางการเงินที่ไม่สมจริงเพื่อทำให้เงินดูเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย

 “ การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” จึงเป็นการกระทำที่กำหนดในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยในมาตรา ๓ (๑๘) ซึ่งกำหนดว่าการกระทำใด ๆ ที่มีการซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายจะถือเป็นการ “ฟอกเงิน”

  แม้ผู้กระทำผิดจะกระทำผิดฐาน “ ฉ้อโกง” ด้วยการแสดงข้อความเท็จ ปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ แล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอก (ผู้เสียหาย ) จำนวนหลายครั้ง ต่างวันและต่างเวลากันก็ตาม อีกทั้งเมื่อโจทก์จะฟ้องจำเลย ก็ได้ฟ้องจำเลยขอให้ศาลลงโทษจำเลยเป็น “ รายกรรม” หรือ “รายกระทง” ก็ตาม แต่จำนวนหลายกรรมตามฟ้อง ก็หาได้หมายความว่าเป็น “กระทำผิดเป็นปกติธุระ” ไม่ หากแต่จะต้องได้ความว่า “ หลายครั้งหลายคราเป็นอาจิณ”

 การดำเนินคดีฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในความผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วย

 ความจริงแล้ว ความผิดฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” นั้น ไม่ใช่เพิ่งจะมีหรือเกิดขึ้นในคดีนี้ หรือ คดีทนาย ต. เป็นคดีแรก หากแต่ก่อนหน้านั้นก็เคยมีการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินในฐานความผิด “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” มาแล้ว เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ก็ได้มี

 “ คำสั่งสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ ย.๒๔๘ / ๒๕๕๙

เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

 “ พฤติการณ์ของนางสาว ก. มีการเปิดบัญชีเงินฝากหลายธนาคาร และมีการทำธุรกรรมทางการเงินลักษณะโอนเงินเข้าบัญชีและถูกทยอยถอนเงินทางเครื่องให้บริการทางการเงินอัตโนมัติจนเกือบหมดภายในวันเดียวกัน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากผู้ที่แจ้งความกับเจ้าพนักงานตำรวจก็พบว่า อยู่ในท้องที่ต่างกัน โดยมีพฤติการณ์คล้ายคลึงกัน คือ การหลอกลวงให้โอนเงินและทำการถอนเงินออกภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งพฤติการณ์ของนางสาว ก. กับพวก เป็นพฤติการณ์ที่แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยมุ่งที่จะได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้แจ้งความ เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้แจ้งความต้องสูญเสียเงินจากการหลอกลวงดังกล่าว พฤติการณ์จึงเป็นการกระทำความผิดฐานถ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อมีการหลอกลวงผู้ร้องเรียน หลายคนในหลายพื้นที่ ให้โอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้เพื่อรองรับเงินของผู้แจ้งความ พฤติการณ์จึงมีลักษณะ “กระทำความผิดซ้ำ ๆ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามนัย มาตรา ๓ (๑๘)

     คำสั่งสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับนี้จะอธิบายคำว่า “ ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” ได้ดี และเห็นความหมาย

      การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่ ทนาย ต. ว่ากระทำผิดฐาน ฉ้อโกง, ฟอกเงิน และ สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ (๑๘) มาตรา ๕ มาตรา ๙ วรรคสองและมาตรา ๖๐ ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ โดยคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนได้บรรยายว่า การกระทำของนายทนาย ต .ผู้ต้องหาที่ ๑ เป็นความผิดฐาน “ ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ” ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรับปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นข้อหาใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการบูรณาการการใช้กฎหมายระหว่างกฎหมายอาญา กับกฎหมายฟอกเงิน เพื่อตัดวงจรอาชญากรรมและเป็นการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับสุจริตชน

 อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงถึง บางอ้อ........

 ส่วนทนายคนดัง จะรอด หรือ ไม่รอด คงต้องติดตามตอนต่อไป

***** นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

        อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

        (อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ( คนที่สอง ) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ( สมัยที่ ๒๕)

 ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad