บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ ชิงทรัพย์ (หัวเข็มขัด) มิใช่ แสดงอำนาจบาตรใหญ่ ” - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ ชิงทรัพย์ (หัวเข็มขัด) มิใช่ แสดงอำนาจบาตรใหญ่ ”

 



สืบเนื่องจากข่าว....

นักเรียนเทคนิค ขี่จักรยานยนต์ประกบ ก่อนปาดหน้า พร้อมใช้ปืนปากกาขู่เอาหัวเข็มขัดจากเด็กเทคโนฯ อ้าง แค่หยอก

รวบ 2 โจ๋ ยืมรถเพื่อนมาก่อเหตุ ใช้ปืนจี้ชิงหัวเข็มขัดสถาบันดังแห่งหนึ่ง รับไม่เจาะจงว่าเป็นนักเรียนที่ไหน…

กลุ่มวัยรุ่น 3 คน ก่อเหตุขี้รถจักรยานยนต์ตระเวณ ขู่-ทำร้ายร่างกายนักเรียนต่างสถาบัน ชิงหัวเข็มขัด – เสื้อช็อป


           นี่เป็นเพียงบางข่าวที่ผู้เขียนนำมาเปิดประเด็นให้เห็นว่า “ หัวเข็มขัดสถาบัน หรือ เสื้อช็อป”            มันมีค่ามากมายขนาดไหน จึงต้องเอามาเป็นของตนเองให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธี ข่มขู่ ทำร้าย ใช้อาวุธ หรือ เป็นเพียงการ “ แสดงอำนาจบาตรใหญ่” หรือมันเป็น “ ลัทธิเอาอย่าง” 


บังเอิญที่ ผู้เขียนทำหน้าที่ “ พนักงานอัยการ” หรือ “ทนายแผ่นดิน” รับผิดชอบ “ งานคดีในศาลสูงในส่วนของพนักงานอัยการ” หรือที่เรียกว่า “  อัยการศาลสูง” มีคดีในลักษณะ ทำนองเดียวกับ ข่าวดังกล่าวข้างต้น


          คดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัด............ เป็นโจทก์ฟ้อง นาย อ. ......... เป็นจำเลย ในความผิดฐาน “ ชิงทรัพย์ ความผิดต่อร่างกาย และความผิดลหุโทษ” 


        มาดูคำฟ้อง... 


         เมื่อวันที่ .......กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกร่วมกัน พาอาวุธมีดพก ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม จำนวน ๑ เล่ม และอาวุธมีดแบบหัวตัด ยาวประมาณ ๖๐ ซ.ม จำนวน ๑ เล่ม  ติดตัวไปบริเวณถนนสุขสวัสดิ์อันเป็นในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุอันควร และ จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกัน “ ชิงทรัพย์” โดยร่วมกันลัก เอาเข็มขัด ๑ เส้น ราคา ๒๐๐ บาท ของนาย อ.............ผู้เสียหายที่ ๑ ไปโดยทุจริต และร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ ๑ ด้วยการชกที่บริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๑ ครั้ง จนผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จากนั้นจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธมีดพกซึ่งจำเลยกับพวกพาติดตัวไปด้วยดังกล่าวจี้ที่บริเวณเอวของผู้เสียหายที่ ๑ อันเป็นการขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยจะใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ ๑ และ นาย จ..........ผู้เสียหายที่ ๒  ด้วยการใช้อาวุธมีดแบบหัวตัด ซึ่งจำเลยกับพวกพาติดตัวไปด้วยดังกล่าว ฟันที่บริเวณศีรษะของผู้เสียหายที่ ๑ จำนวน ๒ ครั้งและฟันที่ศีรษะของผู้เสียหายที่ ๒ จำนวน ๑ ครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทั้งนี้ เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป  ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นและยึดถือเอาทรัพย์นั้น จำเลยกับพวกร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ ๑ คัน เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม

พนักงานอัยการโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๙๕, ๓๓๙ ( ชิงทรัพย์)  , ๓๔๐ ตรี (ชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ) , ๓๗๑ 


จากคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ดังกล่าว สรุป คือ ฟ้องว่า 


“จำเลยชิงทรัพย์ (หัวเข็มขัด) โดยมีและใช้อาวุธมีด และโดยใช้ยานพาหนะฯ”


ต่อมา จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้น จึงพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๒๙๕ (ทำร้ายร่างกาย) ,  ๓๐๙ วรรคสอง ( ความผิดต่อเสรีภาพ –ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการหรือไม่กระทำการ )  , ๓๗๑ ประกอบมาตรา ๘๓  ลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสาม เนื่องจากจำเลยอายุสิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี ตามมาตรา ๗๖ ให้ลงโทษฐาน “ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุก ๘ เดือน และฐาน “ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ” จำคุก ๑ ปี ๔ เดือน และฐาน “พาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะฯ  ปรับ ๖๐๐ บาท ” จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม มาตรา ๗๘ คงเหลือโทษ รวม จำคุก ๑๒ เดือน และปรับ ๓๐๐ บาท 


จากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว จะเห็นได้ว่า


         คดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐาน “ ชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ฯ ตามมาตรา  ๓๓๙ , ๓๔๐ ตรี ซึ่งมีระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ ๗.๕ ปี ถึง ๑๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ถึง ๓๐๐,๐๐๐ บาท 

          แต่ศาลชั้นต้น กลับพิพากษาลงโทษจำเลย ในความผิดฐาน ทำร้ายร่างกาย ฯ ตามมาตรา ๒๙๕ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท และ ความผิดต่อเสรีภาพ –ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการหรือไม่กระทำการโดยมีอาวุธ ตามมาตรา,  ๓๐๙ วรรค ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือ ปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท 


          ซึ่งมีความแตกต่างไปจากที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยเป็นอย่างมาก ทั้งฐานความผิด และการกำหนดโทษของศาล 


เมื่อมาพิจารณาเหตุผลของศาลชั้นต้น ที่พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐาน ทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา ๒๙๕ และฐาน ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการหรือไม่กระทำการโดยมีอาวุธ ตามมาตรา ๓๐๙ วรรคสอง ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการ “แสดงอำนาจบาตรใหญ่” 

คดีนี้ หาก พนักงานอัยการโจทก์ ไม่อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ก็อาจกลายเป็น “บรรทัดฐาน” ว่า


การลักทรัพย์ การชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ (หัวเข็มขัด หรือ เสื้อช็อป) ไม่เป็นความผิดฐาน “ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์” แต่เป็นการ แสดงอำนาจบาตรใหญ่ เป็นความผิดต่อเสรีภาพไป 

และ ต่อไปอาจเป็น “ลัทธิเอาอย่าง” ให้เด็กทั้งในระบบ และนอกระบบ แสดงอำนาจบาตรใหญ่ เอาหัวเข็มขัดสถาบัน เอาเสื้อช็อปของผู้อื่น โดยมี โดยใช้อาวุธ โดยใช้กำลังประทุษร้ายทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่ง หัวเข็มขัด เสื้อช็อป  สังคมก็จะไม่สงบสุข 


ดังนั้น คดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ ( อัยการศาลสูง) จึงอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านว่า

“ การที่จำเลยเอาหัวเข็มขัดของผู้เสียหายที่ ๑ ไปถือได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐาน ร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้องแล้ว” 

  

การที่จำเลยกับพวก ต่อยผู้เสียหายที่ ๑ และใช้อาวุธมีดจี้เอวของผู้เสียหายที่ ๒ เพื่อให้ถอดหัวเข็มขัดออกแล้วจำเลยใช้อาวุธมีดหัวตัดฟันไปยังบริเวณศีรษะของผู้เสียหายทั้งสองจนผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ  กรณีดังกล่าว  ไม่ใช่เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่

       จำเลยอายุ ๑๙ ปีแล้วย่อมที่จะต้องคิดได้แล้วว่า  ไม่มีสิทธิที่จะเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป เป็นการแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่ เป็นการกระทำด้วยความคึกคะนอง 


ต่อมา คดีนี้ศาลอุทธรณ์ เห็นพ้องด้วยกับ “อุทธรณ์ของพนักงานอัยการโจทก์”  จึงพิพากษา


ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษา “แก้”  เป็น จำเลยมีความผิดฐาน ร่วมกันชิงทรัพย์โดยมีอาวุธในเวลากลางคืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ ฯ ตามมาตรา ๓๓๙ วรรคสาม , ๓๔๐ ตรี และฐาน พาอาวุธฯ ตามมาตรา ๓๗๑ ปรับ ๕๐๐ บาท รวมจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน และปรับ  ๕๐๐ บาท รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ ปี ๙ เดือน และปรับ ๒๕๐ บาท ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

คดีนี้  พนักงานอัยการโจทก์ ( อัยการศาลสูง ) ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไว้ คดีจึงไม่กลายเป็นบรรทัดฐานว่า “ ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ (หัวเข็มขัด เสื้อช็อป)  เป็น การแสดงอำนาจบาตรใหญ่ หรือ เป็นการกระทำด้วยความคึกคะนอง”  

           ดังนั้น อย่าหาทำ  อย่าทำเพื่อคึกคะนอง อย่าแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยการไป เอา หัวเข็มขัดสถาบัน เอาเสื้อช็อปของผู้อื่นมา ไม่ว่าจะอ้างว่า เป็นธรรมเนียม เป็นประเพณี หรือ เป็นการแสดงพลัง หรือทำตามคำสั่งรุ่นพี่ เพราะมันเป็นความผิดฐาน “ ลักทรัพย์ , ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์” (แล้วแต่กรณี) ซึ่งมีโทษจำคุก อาจติดคุกจริง และมีประวัติการกระทำผิด โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ทั้งสามฐานดังกล่าวจะติดตัวตลอดไป


นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

(อดีต)รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร (สมัยที่ ๒๕) 

๑๖ กรกฎาคม  ๒๕๖๗

           



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad