AI เปลี่ยนโลกเร็วเกินคาด! สจล. แนะ ไทยต้องรู้เท่าทัน กล้ารับมือและมองเห็นโอกาส - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

AI เปลี่ยนโลกเร็วเกินคาด! สจล. แนะ ไทยต้องรู้เท่าทัน กล้ารับมือและมองเห็นโอกาส




สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ชี้คนไทยต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)  มาเป็นนักวางกลยุทธ์ และต้องเรียนรู้ว่าอะไรควรป้อนให้ AI และออกแบบโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต เนื่องจาก AI กำลังเปลี่ยนโลกเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะไม่ใช่แค่เครื่องมืออัจฉริยะ แต่คือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์  โดยจะเห็นว่ามีหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันทุ่มเงินลงทุนมหาศาลเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบด้านข้อมูลและเทคโนโลยี ดังนั้น AI ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ข้อมูล (Data) แต่คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ของมนุษย์ในทุกมิติ


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช บุญแสง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และกรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า  ในปัจจุบัน AI มีขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีไปไกลมากเทียบเท่าคนที่จบวุฒิการศึกษาสูงๆ ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี และกำลังทำหน้าที่แทนผู้เชี่ยวชาญในหลายอาชีพไม่เว้นแม้แต่แพทย์หรือวิศวกร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะภายในเวลาไม่ถึง 5 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีพนักงานเพียงคนเดียว ที่เหลือเป็นหุ่นยนต์หรือระบบ AI ทั้งหมด และในปัจจุบันเริ่มเห็นเค้าโครงแล้วในบางธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในปัจจุบันที่เน้นนำระบบอัตโนมัติมาทำงานเป็นหลักแทนแรงงานคน

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าสงคราม AI จึงไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่คืออำนาจเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันของมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และจีน ที่ทุ่มเงินระดับมหาศาล โดยบางบริษัทลงทุนสูงถึง 3 - 5 เท่าของ GDP ประเทศไทย ยกตัวอย่างล่าสุดการที่ Meta ซื้อผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อย่าง Alexandr Wang และ Google ที่ลงทุนซื้อโรงงานไฟฟ้าเพื่อรองรับระบบประมวลผล AI 


AI ในปัจจุบันสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์มนุษย์ผ่านการจัดลำดับข้อมูล เช่น ระบบ RLHF (Reinforcement Learning with Human Feedback) โดยผู้พัฒนา AI ระดับโลกอย่าง OpenAI, Scale AI และบริษัทจากจีน ต่างถือข้อมูลขนาดใหญ่และมีทีมทำข้อมูลไลเบอริ่งเพื่อป้อน AI เสมือนว่า AI ไม่ได้แค่คิดได้ แต่มันดูดซับความรู้มนุษย์ ซึ่ง AI ไม่ใช่แค่ Data แต่คือการถ่ายโอนความรู้ทุกแขนง ดังนั้น คนไทยต้องเปลี่ยนจากการใช้ AI ตามใจมาเป็นการใช้ AI อย่างมีกลยุทธ์ และต้องรู้ว่าข้อมูลแบบไหนควรป้อน AI ขณะเดียวกันต้องคิด Business Model ให้เป็นว่าใครจะลงทุน ใครจะได้ประโยชน์ คือ เราต้องมอง Business Model ให้ออกว่า ใครคือลูกค้า ใครคือผู้ใช้ ใช้งบประมาณเท่าไร มีใครพร้อมจ่ายไหม เป็นต้น 


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช บุญแสง  กล่าวด้วยว่า อาชีพที่กำลังถูก AI คุกคาม ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ระดับเริ่มต้น นักผลิตสื่อ ที่ปรึกษา ไปจนถึงแพทย์อายุรกรรม ทั้งนี้จะเห็นว่า เมื่อก่อนนักโปรแกรมเมอร์คือฮีโร่ แต่วันนี้ทุกคนเขียนโค้ดได้เหมือนกันหมด โปรแกรมเมอร์จูเนียร์จะอยู่รอดไม่ได้ ถ้าไม่เพิ่มทักษะ หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ก็ใช้ AI ในการผลิตคอนเทนต์ ดาราและนักแสดงบางรายถูกแทนที่ด้วย AI ที่สามารถร้อง เต้น และแสดงได้โดยไม่ต้องใช้คนจริง และAI เปลี่ยนทุกวัน และยิ่งใช้งาน ยิ่งก่งขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองว่า AI เป็นภัยคุกคาม แต่เป็นโอกาส เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนธรรมดาสามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจได้ หากเข้าใจแม้เพียงพื้นฐาน ซึ่งสามารถสร้างแอปพลิเคชันของตัวเอง หรือออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก  

โดยมีข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาความสามารถด้านคณิตศาสตร์เพื่อก้าวทันการพัฒนา AI และไม่ตกเป็นเพียงผู้ใช้แบบสะดวกเท่านั้น ทุกวันนี้ เวียดนามกับสิงคโปร์ เขาใช้คณิตศาสตร์พัฒนา AI ส่วนคนไทยยังใช้ AI แบบที่เราชอบ แต่มันไม่พาไปสู่อนาคต และน้องๆ นักศึกษา เราต้องเรียนรู้ และใช้AI อย่างชาญฉลาด เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ไปเรื่อยๆ อย่าก๊อบ AI มาส่งการบ้าน เพราะนั่นคือการทำร้ายตัวเองถือเป็นการปิดกั้นการพัฒนาสมองและจะนำไปสู่การไม่เข้าใจจริงในระยะยาว 


“เราควรใช้ AI เพื่อมาพัฒนาตัวเอง โดยการเรียนรู้วิเคราะห์ไปกับสิ่งที่ AI ตอบกลับมา ไม่ใช่แค่นำ AI มาใช้ให้แค่งานจบๆ ไป เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำร้ายตัวเรา” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช กล่าวทิ้งท้าย


ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของ สจล. ได้ทาง Facebook: https://www.facebook.com/kmitlofficial  และเว็บไซต์: https://www.kmitl.ac.th  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad