Key takeaways
• ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากมีการพึ่งพาการค้าและการลงทุน
• หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตามที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างทรัมป์ได้เสนอไว้ ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนอาจมีมาก การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อทุกสินค้านำเข้าจะส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ใครชนะก็แทบไม่ต่างกันสำหรับไทย
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญส่งท้ายปีนี้สำหรับเศรษฐกิจไทย คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เกือบจะเป็นนัดล้างตาระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” จากรีพับลิกันและ “โจ ไบเดน” จากเดโมแครต แต่เพียง 3 เดือนก่อนการเข้าคูหากาบัตร ไบเดนไปต่อไม่ไหว ส่งไม้ต่อให้กับ “กมลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
แม้ว่าโดยผิวเผินการเลือกตั้งในครั้งนี้ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะมีจุดยืนกันคนละฝั่ง โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงไทย อาจจะไม่ต่างกันมากนัก
KKP Research จะมาวิเคราะห์ว่าทำไมการเลือกในครั้งนี้อาจเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลกมากขึ้นไปอีก และไม่ว่าจะใครจะชนะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่แตกต่างกันนัก จากนโยบายการค้าที่หันมากีดกันคู่ค้ามากขึ้น ต่างกันเพียงแค่ดีกรีว่าจะกีดกันมากหรือน้อย
โลกาภิวัตน์ไม่เหมือนเดิม
หลายคนมักตั้งคำถามว่า ทำไมจู่ ๆ หลายประเทศในโลกเสรีโดยเฉพาะสหรัฐฯ หันมาขึ้นภาษีนำเข้าและกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทั้งที่เศรษฐศาสตร์ 101 มักมีข้อสรุปที่ว่า “การค้าเสรี” เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมากกว่าและทุกประเทศจะได้ผลประโยชน์จากการค้าไปด้วยกัน
แต่การกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น สาเหตุหลักคงเป็นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์แบบเดิมกำลังหันกลับมาสร้างต้นทุนมหาศาลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองที่ในช่วงที่ผ่านมาสูญเสียส่วนแบ่งในภาคการผลิตให้แก่ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน และทำให้การจ้างงานของแรงงานในภาคการผลิตสหรัฐฯ หดตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังปี 2000 จนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ประโยชน์จากการค้าเสรีไม่สามารถชดเชยกับการจ้างงานที่หายไป ความไม่พอใจของกลุ่มแรงงานได้ก่อตัวขึ้น ลุกลามไปยังภาคการเมือง ทำให้นโยบายทางการเมืองไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหันมาเน้นภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศ
นี่คือที่มาว่าทำไมสหรัฐฯ จึงพยายามออกแบบนโยบายเพื่อนำการลงทุนกลับมาในประเทศตัวเองและออกนโยบายกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการเมืองระหว่างประเทศกับประเทศอื่นอย่างจีน รัสเซีย อิหร่าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญให้กระแสโลกาภิวัตน์ไม่สามารถกลับไปเป็นแบบเดิมได้
เลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าใครจะชนะ เรามีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะไม่เห็นการค้าโลกและกระแสโลกาภิวัตน์กลับไปเติบโตรุ่งเรืองแบบในอดีต เพราะสหรัฐฯ กำลังจะไม่สนใจโลกาภิวัตน์แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับริกันเองต่างมีนโยบายที่กีดกันทางการค้าและการลงทุนกับประเทศอื่นทั้งคู่ ต่างกันเพียงแค่รายละเอียดและเครื่องมือที่ใช้เท่านั้น
โดยทรัมป์จะมุ่งเน้นไปที่การขึ้นภาษีนำเข้าต่อประเทศคู่ค้าในทุกสินค้า ขณะที่แฮร์ริสอาจสานต่อนโยบายของไบเดน กล่าวคือการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้การขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าสำคัญในบางประเภทเท่านั้น ซึ่งแนวโน้มนี้จะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อกลุ่มประเทศในอาเซียน เพราะส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาการค้าโลกในสัดส่วนสูงเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากการค้าโลกมีความเสี่ยงที่ชะลอตัวลงอาจทำให้แรงกดดันต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวได้
Trump Harris
นโยบายการค้า - ขึ้นภาษีนำเข้า 60% สำหรับสินค้าที่ผลิตจากจีน
- ขึ้นภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าจากทั่วโลก - สานต่อนโยบายของ
ไบเดน ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม
- กีดกันจีนในการเข้าถึงเทคโนโลยี
- ขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะสินค้านำเข้าบางประเภท
นโยบายภาษี - ลด Corporate tax เป็น 15% จาก 21%
- ลดภาษีคนรวย และธุรกิจขนาดใหญ่ - เพิ่ม Corporate tax เป็น 28% จาก 21%
- ลดภาษีให้ธุรกิจขนาดเล็ก และชนชั้นกลาง
นโยบายการคลัง - แผนงบประมาณขาดดุลอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง $15 trillion ในช่วงเวลา 10 ปี
- หนี้สาธารณะสหรัฐฯ อาจสูงถึง 150% of GDP - แผนงบประมาณขาดดุลอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง $8 trillion ในช่วงเวลา 10 ปี
- หนี้สาธารณะสหรัฐฯ อาจสูงถึง 130% of GDP
นโยบายผู้อพยพ - นโยบายกีดกันแรงงานต่างด้าวชัดเจนขึ้น เดินหน้าสร้างกำแพงชายแดน ส่งผู้อพยพกลับประเทศ - นโยบายแรงงานต่างด้าวอาจเข้มข้นขึ้นเล็กน้อย เช่น การสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดน
นโยบายการต่างประเทศ - America First สนใจการรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆ ลดลง
- มีแนวโน้มสนับสนุนยูเครนน้อยลง - เน้นบทบาทสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำ world order
- เรียกร้องให้อิสราเอล-ฮามาสเร่งทำข้อตกลงหยุดยิง เพื่อยุติสงคราม
นโยบายทรัมป์ ‘ปั่นป่วน’ การค้าโลก
แม้ว่าทั้งสองพรรคมีแนวโน้มที่จะหันหลังให้กับการค้าโลกแบบเสรีมากขึ้น และหันไปเน้นการผลิตภายในประเทศ แต่นโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้า 60% ต่อสินค้าจากจีน และ 10% กับทุกสินค้าที่มาจากประเทศอื่นทั่วโลก อาจเร่งให้การค้าโลกหดตัวเร็วกว่าที่คาดและจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
KKP Research ประเมินว่าผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์มี 5 ด้านสำคัญ คือ
1) ผลกระทบทางตรงจากภาษีนำเข้า 10%
(Tariff effect) การขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้านำเข้าสหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญที่สุดสำหรับสินค้าส่งออกของไทย สะท้อนผ่านสัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเดิมที่ 10% ในปี 2010 เป็น 17.5% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2023 นอกจากนี้ การที่ดุลการค้าของไทยไม่ได้ขาดดุลมากกว่านี้ส่วนหนึ่งเพราะตลาดสหรัฐฯ สามารถรองรับสินค้าส่งออกจากไทยได้มากขึ้น ทำให้ไทยมีการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ สูงขึ้นถึง 6% ของ GDP แต่หากดุลการค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ลดลงจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นอาจทำให้ดุลการค้าโดยรวมไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นไปอีก
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, KKP Research
2) การเบี่ยงเบนทางการค้าผ่านตลาดอาเซียน (Trade diversion)
ประโยชน์ส่วนหนึ่งที่ไทยอาจได้รับคือหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากตลาดอื่นในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น อาเซียนที่มีอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่า ซึ่งไทยอาจจะยังได้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม การเบี่ยงเบนทางค้าอาจเป็นดาบสองคมเพราะมีความเสี่ยงที่จีนจะใช้ไทยเป็นเพียงช่องทางผ่านของสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น (Re-routing) ซึ่งกิจกรรมนี้สร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตในประเทศไทยน้อยมาก และยังเสี่ยงกับการถูกมาตรการตอบโต้อื่น ๆ จากสหรัฐฯ อีกด้วย
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, KKP Research
ที่มา: UN Comtrade, KKP Research
3) การโยกย้ายการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ (Relocation)
เช่นเดียวกับการได้ประโยชน์บางส่วนจากการเบี่ยงเบนทางการค้า หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจะทำให้บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ มีการกระจายความเสี่ยงในด้านการลงทุนและห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น และไทยเองอาจยังได้รับอานิสงค์จากการโยกย้ายการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นอาจเห็นเม็ดเงินลงทุนชะลอตัวเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นจากสงครามการค้า และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับในระยะยาวผ่านช่องทางนี้ อาจน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยเอง
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, KKP Research
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, KKP Research
4) ปัญหาสินค้าจีนทะลักรุนแรงมากขึ้น (China dumping)
หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนเพิ่มขึ้น จะทำให้มีความเสี่ยงที่อุปสงค์ในจีนชะลอตัวลงแรงยิ่งขึ้น และอุปทานส่วนเกินในจีนไม่สามารถระบายไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ง่ายนัก ทำให้สินค้าต่าง ๆ จะถูกนำมาขายในตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะในอาเซียน รวมทั้งไทยมากขึ้นไปอีก ซึ่งสินค้าที่ทะลักเข้ามาจะยิ่งทำให้ผู้ผลิตในไทยเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าราคาถูกจากจีนมากยิ่งขึ้น และเสี่ยงทำให้ผู้ผลิตในไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องลดปริมาณการผลิตลงต่อเนื่องหรือปิดตัวโรงงาน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, KKP Research
5) ค่าเงินในภูมิภาคเสี่ยงอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอาจมีแนวโน้มปรับอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อชดเชยกับอัตราภาษีนำเข้าที่ถูกปรับขึ้น หากย้อนกลับไปดูในช่วงสงครามการค้า (Trade war) ในปี 2018 ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าตามดัชนีดอลลาร์หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าต่อจีน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวสาเหตุหลักที่ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าหลังจากนั้นเป็นเพราะไทยยังได้รับอานิสงค์จากนักท่องเที่ยวจีนที่พอจะช่วยสนับสนุนให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทั้งดุลการค้าที่เผชิญกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันและภาษีนำเข้าที่จะสูงขึ้น รวมไปถึงดุลบริการ
ไม่กลับไปสูงแบบในอดีต จะทำให้ค่าเงินบาทมีความอ่อนไหวต่อทิศทางของดอลลาร์และภาษีนำเข้าสูงขึ้นกว่าในอดีต
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, KKP Research
จับตาอุตสาหกรรมไหนรับศึกหนัก
ภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีแฮร์ริส คาดว่าการดำเนินนโยบายตามสถานะเดิมจะส่งผลกระทบไม่มากนักต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยโดยรวม อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์ ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้า คาดว่าจะมีดังนี้
• สินค้าส่งออกของไทยที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าและอาจถูกมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมจากสหรัฐฯ เพราะอาจเป็นอุตสาหกรรมที่จีนใช้ไทยเป็นช่องทางผ่านเพื่อส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ
• นิคมอุตสาหกรรมน่าจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากประเด็นการย้ายถิ่นฐานในระยะยาว แต่ประโยชน์ในระยะสั้นจะถูกบดบังด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูง
• การท่องเที่ยว ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์มีความเสี่ยงสูงจากอุปสงค์ของจีนที่ลดลงเนื่องจากภาษีนำเข้าจากจีนที่สูงขึ้น
• ภาคการผลิต เช่น เหล็กและเหล็กกล้า เฟอร์นิเจอร์ สารเคมี และยานยนต์ รวมถึง SMEs จำนวนมากในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกมีความเสี่ยงสูงจากการแข่งขันนำเข้าจากจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคการเงินที่มีความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจเหล่านี้สูง ที่อาจจะต้องเผชิญกับคุณภาพสินเชื่อและคุณภาพเครดิตที่มีแนวโน้มด้อยลงในอนาคต
ความเสี่ยงต่อทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยจากการค้าของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็น Protectionism มากขึ้น กำลังก่อตัวขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น หนี้ครัวเรือน สังคมสูงวัย ความสามารถในการแข่งขัน หากดุลการค้าไทยขาดดุลต่อเนื่อง ภาคการส่งออกไม่สามารถเป็นแหล่งระบายสินค้าจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยได้ อาจทำให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงหรืออัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อรายได้และงบดุลของครัวเรือนไทยที่กำลังเปราะบางอยู่แล้ว และอาจทำให้ปัญหาหนี้ในปัจจุบันเป็นปัญหาหนักขึ้นไปอีก
นโยบายภาครัฐจึงควรมีการเตรียมพร้อมที่จะรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากแนวโน้มของภูมิทัศน์การค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เพื่อไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามไปยังครัวเรือนไทยในวงกว้าง อนึ่ง แนวทางของนโยบายการค้าไทยแบบเดิมที่มุ่งเน้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้าและเปิดตลาดโดยการเจรจาเรื่องการลดภาษีนำเข้าอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะอัตราภาษีนำเข้าในปัจจุบันก็ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว การมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยและการดูแลไม่ให้เกิดการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการออกแบบนโยบาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น