แคสเปอร์สกี้รายงาน ธุรกิจอาเซียนประสบภัยแรนซัมแวร์ 400 ครั้งต่อวัน - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568

แคสเปอร์สกี้รายงาน ธุรกิจอาเซียนประสบภัยแรนซัมแวร์ 400 ครั้งต่อวัน

 


ผลการวิจัยล่าสุดจากแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) เปิดเผยว่า องค์กรธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในปี 2024 คิดเป็นจำนวนเฉลี่ย 400 ครั้งต่อวัน

แรนซัมแวร์ (ransomware) เป็นซอฟต์แวร์อันตรายที่ออกแบบเพื่อบล็อกการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือเข้ารหัสข้อมูลของบุคคลและองค์กรจนกว่าจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าไถ่

โซลูชันของแคสเปอร์สกี้สำหรับองค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถตรวจจับและบล็อกการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ได้ทั้งหมด 135,274 ครั้งช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคมของปี 2024 ที่แล้ว ธุรกิจในอินโดนีเซียเผชิญกับการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์มากที่สุด (57,554 ครั้ง) รองลงมาคือเวียดนาม (29,282 ครั้ง) และฟิลิปปินส์ (21,629 ครั้ง)

เอเดรียน เฮีย กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2024 พบการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ทั้งหมดเพียง 57,000 ครั้ง แต่เห็นได้ชัดว่าในช่วงหกเดือนสุดท้ายของปี กลุ่มแรนซัมแวร์ได้ยกระดับการโจมตีโดยใช้ประโยชน์จากวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้น บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกกดดันจากผู้โจมตีที่ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและเครือข่ายขององค์กรที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ”

จากรายงานของแคสเปอร์สกี้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ จำนวนแรนซัมแวร์ในมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึง 153% โดยตรวจพบ 12,643 ครั้งเมื่อปี 2024 เมื่อเทียบกับ 4,982 ครั้งในปี 2023



เหตุการณ์แรนซัมแวร์ที่โดดเด่นในภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว ได้แก่ การโจมตีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ผู้ให้บริการไปรษณีย์ พอร์ทัลของรัฐบาลสำหรับแรงงานต่างด้าว และภาคธุรกิจค้าปลีก

“กลุ่มแรนซัมแวร์ยังคงปรับปรุงกลวิธีโดยใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่มีและใช้เครื่องมือขั้นสูงอย่าง Meterpreter และ Mimikatz เพื่อเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยการกำหนดเป้าหมายแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต จัดการบัญชีท้องถิ่น และหลบเลี่ยงการป้องกันเอ็นด์พ้อยต์ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอาชญากรไซเบอร์ช่ำชองและเชี่ยวชาญเรื่องจุดอ่อนของเครือข่าย ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แข็งแกร่ง เนื่องจากผู้ไม่หวังดียังคิดค้นและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่คุ้นเคยที่สุด” เอเดรียน กล่าวเสริม

บุคคลและองค์กรควรให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอันดับแรก แคสเปอร์สกี้เสนอขั้นตอนเพื่อลดความเสี่ยงจากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ ดังนี้

• ใช้โซลูชันรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่งและกำหนดค่าอย่างเหมาะสม เช่น Kaspersky NEXT

• นำ Managed Detection and Response (MDR) มาใช้ เพื่อค้นหาภัยคุกคามเชิงรุก

• ปิดใช้งานบริการและพอร์ตที่ไม่ได้ใช้ เพื่อลดพื้นที่การโจมตีให้เหลือน้อยที่สุด

• อัปเดตระบบและซอฟต์แวร์ทั้งหมดให้เป็นปัจจุบันด้วยการอัปเดตและแพตช์เป็นประจำ

• ดำเนินการทดสอบการเจาะระบบและสแกนช่องโหว่เป็นประจำ เพื่อระบุและแก้ไขช่องโหว่อย่างทันท่วงที

• จัดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างครอบคลุมแก่พนักงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการบรรเทาผลกระทบ

• สร้างและรักษาการสำรองข้อมูลสำคัญเป็นประจำ และทดสอบขั้นตอนการสำรองข้อมูลและกู้คืนข้อมูลเป็นประจำ

• ใช้ Threat Intelligence เพื่อติดตาม TTP ล่าสุดที่ใช้โดยกลุ่มต่างๆ และปรับกลไกการตรวจจับ

• ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับซอฟต์แวร์ใหม่ที่กำลังเรียกใช้และติดตั้งบนระบบภายในเครือข่าย (รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad