สรุปประเด็นแถลงข่าว กกร. พ.ค. 64 - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สรุปประเด็นแถลงข่าว กกร. พ.ค. 64

 


วันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน สถาบัน (กกร.) จัดการประชุมประจำเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นประธานการประชุมและการแถลงข่าว โดยที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า

 

·    การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองและไตรสามเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2%

 

·  การเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดเป็นภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน และจะทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีน อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

 

·    เศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป

 

·  เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป

 

·    ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.5% ถึง 2.0% เนื่องจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ด้านการส่งออก กกร. ปรับประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 5.0% ถึง 7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

 

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.

%YoY

ปี 2563

(ตัวเลขจริง)

ปี 2564

(ณ เม.ย. 64)

ปี 2564

(ณ พ.ค 64)

GDP

-6.1

1.5 ถึง 3.0

0.5 ถึง 2.0

ส่งออก

-6.0

4.0 ถึง 6.0

5.0 ถึง 7.0

เงินเฟ้อ

-0.85

1.0 ถึง 1.2

1.0 ถึง 1.2

 

·    ขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอใน 4 เรื่อง โดยเสนอ

1.    เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายโดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2.    เร่งผลักดัน พ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้าน  สาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.    เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4.    เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad