SCB CIO ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing แนะสะสมตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นสหรัฐเน้นสร้างสมดุลทั้ง Quality Growth -Defensive - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567

SCB CIO ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing แนะสะสมตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นสหรัฐเน้นสร้างสมดุลทั้ง Quality Growth -Defensive

 


SCB CIO ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ถดถอย แต่ชะลอตัวลงแบบ Soft Landing มองว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยชั่วคราวจากพายุเฮอริเคน ไม่ได้มาจากการจ้างงานที่ลดลงอย่างถาวร คาดการจ้างงานในเดือน ส.ค. น่าจะปรับตัวดีขึ้น ภาคบริการแรงงานยังเติบโต และการเลิกจ้างยังอยู่ในระดับต่ำ   Fed น่าจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้ รวม 75 bps  แนะทยอยสะสมตราสารหนี้ระยะสั้นของสหรัฐฯ อายุเฉลี่ยประมาณ 2-4 ปี หลีกเลี่ยงตราสารหนี้สหรัฐฯ ระยะยาว ที่อาจมีความเสี่ยงจากผลกระทบการเลือกตั้งสหรัฐฯ   หากมีการเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลัง และขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
รวมทั้งการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคต  ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ เน้นความสมดุล มีทั้งหุ้น Quality Growth ที่งบดุลแข็งแกร่ง ยอดขายและกำไรมีการเติบโตแบบยั่งยืน เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่ม Defensive ที่เป็นหุ้นที่กำไรมีความทนทานต่อสภาวะตลาดที่ผันผวน เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค  กลุ่มสินค้าจำเป็น และกลุ่มสุขภาพ

น.ส.เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. 2567 เกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลก  รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแรงหรือ Black Monday  เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่า จะเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย (Recession)  โดย SCB CIO มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกิด Recession อย่างที่กังวล แต่อาจจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบจัดการได้ หรือ Soft Landing ในระยะถัดไป ตลาดมีความกังวลว่าจะเกิด Recession  เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.14 แสนตำแหน่ง  และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4.3% โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวน้อยลง มาจากปัจจัยชั่วคราว ที่มีพายุเฮอริเคนเบอริล พัดถล่มรัฐเท็กซัส  ทำให้การจ้างงานชะลอตัวลง เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่  มีการปรับลดชั่วโมงการทำงานลง และเลิกจ้างชั่วคราวเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดเพิ่มความกังวลบนเรื่อง Recession เนื่องจาก ตามกฎของซาห์ม หรือ Sahm’s Rule ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการเกิด Recession ที่ค่อนข้างแม่นยำในอดีต ซึ่งคำนวณจากการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของอัตราการว่างงานย้อนหลัง 3 เดือน หักลบด้วย ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของอัตราการว่างงานย้อนหลัง 3 เดือนที่ต่ำที่สุด ในกรอบ 12 เดือนล่าสุด โดยกรณีตัวเลขอยู่ที่ 0.5% หมายความว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เราพบว่า ตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน ก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 4.3%  ทำให้ดัชนีชี้วัดตามกฎของซาห์ม อยู่ที่ราว 0.5% ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังส่งสัญญาณ Recession ตามกฎของซาห์ม  แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น มาจากการเลิกจ้างชั่วคราว และ จากกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้น อันเกิดจากผู้อพยพและอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการแรงงาน ไม่ได้มาจากการจ้างแรงงานลดลงอย่างถาวร ดังนั้น ในครั้งนี้อาจใช้กฎของซาห์ม จึงไม่ได้บ่งบอกว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย โดยมองว่า เมื่อสภาพอากาศกลับมาเป็นปกติ การเลิกจ้างชั่วคราวจะหายไป การจ้างงานในเดือน ส.ค. น่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลอื่นเสริม พบว่า การจ้างงานในภาคบริการยังขยายตัวถึงแม้จะชะลอลง และการเลิกจ้างยังอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนภาคการผลิต ที่นักลงทุนกังวลกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ในภาคการผลิต (PMI) ที่จัดทำโดยสถาบันการจัดการอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ออกมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต เรามองว่า ปัจจุบันภาคการผลิตในสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าในอดีตมาก โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนราว 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ แตกต่างจากเมื่อปี 2493 ซึ่งเคยมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของ GDP ขณะที่ การจ้างงานในภาคการผลิต คิดเป็นราว 8% ของการจ้างงานโดยรวม ลดลงมากจากในอดีตที่เคยอยู่ในระดับราว 30% และเมื่อไปพิจารณาตัวเลขดัชนีชี้วัดภาคบริการของ ISM ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.4 พบว่า ยังบ่งชี้ถึงการขยายตัว ดังนั้น การที่ดัชนี้ชี้วัดภาคการผลิตหดตัว อาจจะยังไม่ใช่เหตุผลที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิด Recession ได้    

ทั้งนี้ จากการที่ตลาดกังวลว่าจะเกิด Recession ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยมากกว่า 100 bps ในปีนี้ แต่  SCB CIO มองว่า Fed น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ 3 ครั้ง ในการประชุมเดือน ก.ย. ต่อด้วย พ.ย. และ ธ.ค. นี้ ครั้งละ 25 bps ภายใต้สมมติฐานที่เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวแบบ Soft Landing  ส่วนทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed นี้ คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต โดย Bond Yield ของพันธบัตรระยะสั้น จะปรับลดลงมากกว่า ระยะยาว (Bull Steepening) ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เป็น Inverted Yield Curve โดยผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว กลับมาเป็น Normal Yield Curve ที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าระยะสั้นตามปกติ

ดังนั้น  SCB CIO แนะนำให้ นักลงทุนทยอยสะสมตราสารหนี้ระยะสั้นของสหรัฐฯ อายุเฉลี่ยประมาณ 2-4 ปี เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับ (coupon rate) ที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสรับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อ Fed ปรับลดดอกเบี้ย  นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ระยะยาว ซึ่งมีความเสี่ยงรับผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อ Bond Yield อาจปรับเพิ่มขึ้น กรณีมีขาดดุลงบประมาณและออกพันธบัตรมากขึ้น รวมทั้ง กรณีมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ (Tariff) จะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ   มองว่า  บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2567 ออกมาแล้วประมาณ 76% ซึ่งในจำนวนนี้ 81% มีกำไรดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์  และกลุ่มธุรกิจที่มีกำไรเติบโตขยายวงกว้างมากขึ้น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรง  โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ เริ่มมีฐานกำไรที่สูงมาก ดังนั้น ในอนาคตกำไรที่ออกมาอาจไม่สามารถเติบโตได้แรงเท่าในอดีต และทำให้เกิดการปรับฐานราคาหุ้นได้ อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเติบโตของกำไรโดยรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะถัดไป ยังมีทิศทางปรับตัวขึ้นต่อ  เราจึงแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระยะยาว บนพอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ที่ลงทุนมากกว่า 1 ปีขึ้นไป นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แบบ Barbell คือ มีน้ำหนักการลงทุน ทั้งในหุ้นกลุ่ม Quality Growth ซึ่งเป็นหุ้นคุณภาพดีเติบโตสูง ที่มีงบดุลแข็งแกร่ง ยอดขายและกำไรมีการเติบโตแบบยั่งยืน เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่ม Defensive ที่กำไรมีความทนทานต่อสภาวะตลาดที่ผันผวน เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และ กลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) ที่อาจทำผลงานได้ดีกว่าตลาดในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และ Bond Yield ปรับลดลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad