สรท. เสนอรัฐสนับสนุนภาคการส่งออกเติบโตตามทิศทางการค้าโลก หวังพยุงเศรษฐกิจประเทศปี 64 - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สรท. เสนอรัฐสนับสนุนภาคการส่งออกเติบโตตามทิศทางการค้าโลก หวังพยุงเศรษฐกิจประเทศปี 64


นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. นางจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องประชุมสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.30-12.00 น. การส่งออกเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.71% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 602,803 ล้านบาท ขยายตัว 4.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 19,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3.62% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 582,100 ล้านบาท ขยายตัว 3.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 20,703 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนธันวาคมการส่งออกขยายตัว 5.81%)

ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ธ.. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 231,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -6.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,178,494 ล้านบาท หดตัว -5.90% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 206,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -12.39% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 6,495,546 ล้านบาท หดตัว -12.52% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- ธ.ค. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 24,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 682,547 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือน ม.. – ธ.ค. การส่งออกขยายตัว -6.75%)

การส่งออกในเดือนธันวาคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้ สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัว ประกอบด้วย น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ทูน่ากระป๋อง ข้าว ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ประกอบด้วย ถุงมือยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว ประกอบด้วย ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ยางยานพาหนะ ขณะที่การส่งออก ปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว -3.5% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -5.6%

ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ การกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงค์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง ดังจะเห็นได้จากการขยายประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง การจ้างงานของประชาชน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง 2) ปัญหา International Logistics 2.1 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ จากการระบาดของ Covid-19 รอบ 2 ในหลายประเทศ ทำให้มีปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ประกอบกับจีนได้เร่งส่งออกสินค้าหรือที่เรียกว่า Front-load shipment ก่อนที่จะปิดยาวในช่วงตรุษจีน ทำให้ยังคงมีปัญหาขาดแคลนระวางเรือ 2.2 อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น อัตราค่าระวางเรือที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังแต่ละเส้นทาง ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในเส้นทางยุโรป เดือนธันวาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 160-220% ในขณะที่เส้นทางภายในเอเชีย เพิ่มขึ้น 17-100% ส่วนเส้นทางออสเตรเลีย ปรับเพิ่มขึ้น 112-197% และเส้นทางสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้น 73-196% ซึ่งจากผลของการปรับขึ้นค่าระวางเรือในหลายเส้นทางโดยเฉพาะ EU ทำให้ลูกค้าบางรายเริ่มมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไป 2-3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถยอมรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวได้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า 2.3 ค่าระวางขนส่งทางอากาศยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในเส้นทาง EU US Japan เป็นต้น 3) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว (QE) และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ระดับการแข็งค่าของค่าเงินบาทค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแข่งขันด้านราคาในการส่งออก 4) ประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ และจีน เน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มการออกนโยบายที่ส่งเสริมให้พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Onshore/Re-shore) อาทิ การประกาศใช้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) ของประเทศจีน ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (2021-2025) และนโยบาย Buy American นโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เน้นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯ และ 5) ความล่าช้าในการเจรจา FTA อาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญอย่างเวียดนาม ในตลาดสหภาพยุโรป ที่ได้มีการยกเว้นภาษีสินค้าระหว่างกันแล้วกว่า 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด กระทบการขยายตัวภาคส่งออกต่อ GDP ของไทยในภาพรวม

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

1.    มาตรการเร่งด่วน

1.1    ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19

1.2    เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดย 1) เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ 2) ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย 3) ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น 4) อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวรเพื่อให้นำเข้าตู้เปล่ามากขึ้น 5) ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น

2.    มาตรการระยะยาว 

2.1   สถานการณ์โควิดรอบใหม่

2.1.1     รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลดกำลังการผลิตและยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

2.1.2     เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เช่น เร่งรัดและส่งเสริมการพัฒนาโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP), การพัฒนา National Single Window (NSW) ให้เป็น Single submission หรือระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว, การพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์สอดรับกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นปรับลดขั้นตอนในการติดต่อกับทางราชการ เช่น การออกใบรับรอง/ ใบอนุญาต ให้ใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่รับบริการ (Social distancing)

2.1.3     ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มวัย รูปแบบการค้า การผลิต การขาย การบริการ ลงทุน จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เรียกว่า New normal

2.2   เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์

2.3   เร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี อาทิ เร่งบังคับใช้ความตกลง RCEP ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งเจรจาความตกลงที่อยู่ใน Pipeline อาทิ  Thai-UK / Thai-EU / EFTA / Pakistan / Turkey เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad