ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่ง ปัญหาด่านเขมร–ภาษีสหรัฐฯ กดดัน ส.อ.ท. เสนอรัฐเร่งแก้เกมการค้า - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่ง ปัญหาด่านเขมร–ภาษีสหรัฐฯ กดดัน ส.อ.ท. เสนอรัฐเร่งแก้เกมการค้า

 


นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วย ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ส.อ.ท. ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลง จาก 88.1 ในเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการปิดด่านชายแดนไทย–กัมพูชา และการระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ LNG จากไทย ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและผ่านแดน ด้านสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษี Sectoral Tariff ในกลุ่มสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก 25% เป็น 50% กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงานผันผวน การส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัว อีกทั้งการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศกดดันผู้ประกอบการ การผลิตเพื่อส่งออกเริ่มถูกแทนที่ด้วยสินค้านำเข้า ราคาสินค้าเกษตรหดตัวรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร และทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคลดลง รวมถึงความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชนและเงินบาทแข็งค่าพร้อมสกุลเงินอื่น จากเงินทุนไหลเข้าภูมิภาค และการอ่อนค่าของดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ


อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ยังคงมีปัจจัยบวกจากการเร่งส่งออกก่อนสิ้นสุดมาตรการชะลอการเก็บภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff)  ในเดือนกรกฎาคม 2568 ขณะเดียวกัน สัญญาณการเจรจาการค้าระหว่างไทย–สหรัฐฯ ยังมีทิศทางเชิงบวก และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการช่วงกลางปี ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,342 ราย ครอบคลุม 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมิถุนายน 2568 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเข้าถึงสินเชื่อ 51.7% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) 39.9% ราคาพลังงาน 31.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 24.7% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ 61.0% เศรษฐกิจโลก 57.7% นโยบายภาครัฐ 47.5%

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 90.8 ลดลงจาก 91.7 ในเดือนพฤษภาคม 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนจากปัญหาบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา รวมถึงการปิดด่านอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย ด้านคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัดในบางกิจการ มีผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 กระทบต่อต้นทุนการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการค้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากการอนุมัติงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% และโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง 2568 คาดว่าจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างทั่วถึง

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ  
1.  ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่านการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เช่น ช่วยรับซื้อสินค้าและกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่น จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักชำระหนี้ชั่วคราวสำหรับ SMEs ชดเชยค่าจ้างให้แรงงานกรณีปิดกิจการชั่วคราว อุดหนุนส่วนต่างราคาวัตถุดิบหากต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางเรือหรือทางอากาศ เป็นต้น
2.  ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการใช้จ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ มูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ให้ดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบโครงการอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส
3.  ขอให้ภาครัฐเร่งเจรจาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ให้ลดลงสู่ระดับที่สามารถแข่งขันได้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2568

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของ ส.อ.ท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://fti.or.th/ids
ส.อ.ท. มุ่ง “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand)”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad