สรท. เสนอรัฐเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

สรท. เสนอรัฐเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม

 


นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. นางจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องประชุมสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 2 มีนาคม 2564 เวลา 10.30-12.00 น. การส่งออกเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 587,373 ล้านบาท หดตัว -0.09% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า  601,897 ล้านบาท หดตัว -5.70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมกราคม 2564 ประเทศไทยขาดดุลการค้า -202.39  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ -14,523.81 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมกราคม การส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.57)

การส่งออกในเดือนมกราคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ยางพารา แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ถุงมือยาง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์ ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือนมีนาคม 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2564 1.1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 เป็น 5.5% จาก 5.2% 1.2) การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป 1.3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI Index) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิน 50 ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการผลิตกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าขั้นกลาง อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น 2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป 3) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจของประเทศคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ 1.1) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากปริมาณตู้สินค้าตกค้างที่ท่าเรือปลายทางทั้ง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย สวนทางกับความต้องการนำเข้าสินค้าที่มากขึ้น เช่น การบริโภคของสหรัฐประจำเดือนมกราคมในส่วนการค้าปลีกเติบโตขึ้นถึง 5.3% 1.2) อัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่สูงขึ้น 2) ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค เนื่องด้วยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging market) จากแรงหนุนของความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ประกอบกับมีสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงโดยเปรียบเทียบกับค่าเงินบาท และ 3) แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาร์ ส่งผลโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้ในอนาคต

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง 2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดย 2.1) ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรให้มีความสามารถในการชำระค่าระวางเรือในอัตราที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจาก Demand ตู้สินค้ามากกว่า Supply ทำให้ราคาค่าระวางในแต่ละเส้นทางเดินเรือปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น 2.2) ขอให้ภาครัฐเช่าเรือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ตกค้างในต่างประเทศกลับมาให้ผู้ส่งออกไทย และ 2.3) ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบริการซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มปริมาณตู้หมุนเวียนเข้ามาในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น 3) ทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า ธปท. ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad