พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ ๑๐ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ในฐานะพระผู้เป็นแสงประทีปดวงสุดท้ายของผู้ป่วยโรคเอดส์ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ ๑๐ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ในฐานะพระผู้เป็นแสงประทีปดวงสุดท้ายของผู้ป่วยโรคเอดส์


๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ – บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ ๑๐ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์                                              ณ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยเชิดชูบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์และอุทิศตนเพื่อสังคม อันก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตของคนในสังคมต่อไป โดยมีคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร                   บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธี

สำหรับบุคคลที่ได้รับ รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ ๑๐ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ ได้แก่ พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ในฐานะพระผู้เป็นแสงประทีปดวงสุดท้ายของผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยยึดพุทธพจน์ที่ว่า “ทุกข์ทั้งหลายของสัตว์โลก พระสงฆ์พึงมีหน้าที่บำบัด” ด้วยการสร้างจิตสำนึกของสังคมให้มีเมตตาและมนุษยธรรมต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัวและสังคม ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้ได้มีโอกาสสิ้นลมหายใจอย่างสงบสุขและไปสู่สุคติตามวิถีทางของชาวพุทธ

ในโอกาสที่รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์  ได้บรรจบครบ ๑๐ ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์และวัดพระบาทน้ำพุให้เป็นสถานที่บำบัดผู้ป่วยต่อไป คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินรางวัลจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมบริจาคเงินส่วนตัวสมทบเพิ่ม ๕๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมบริจาค ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมเงินรางวัลในครั้งนี้ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ถวายแด่พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ)

พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) อดีตมหาบัณฑิตสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้ตัดสินใจละทิ้งทางโลกเพื่อศึกษาพระธรรม และหาแนวทางในการเป็นผู้ให้ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มีเมตตาธรรมโดยไม่มีเงื่อนไข โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์เริ่มมาจากการที่ท่านได้พบคณะทำงานของเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม     ซึ่งเสนอแนวคิดว่าน่าจะมีบ้านพักผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย   เนื่องจากมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ประกอบกับท่านได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเอดส์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แล้วพบผู้ป่วยขาดใจตายอยู่ตรงหน้า ทั้งได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ท่านจึงตัดสินใจเริ่มโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ ที่วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างจิตสำนึกของสังคมให้มีเมตตาและมนุษยธรรมต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัวและสังคม      เพื่อให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนถึงวาระสุดท้าย ได้มีโอกาสสิ้นลมหายใจอย่างสงบ วิญญาณไปสู่สุคติตามวิถีทางของชาวพุทธ

โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ในระยะแรก  พระอุดมประชาทรต้องเผชิญอุปสรรคปัญหานานัปการ ตั้งแต่รับผู้ป่วยมาดูแลด้วยตนเอง ทั้งซักเสื้อผ้า ขัดห้องน้ำ ถูพื้น ทำกับข้าว ป้อนอาหาร เช็ดตัว บีบนวดทายา เฝ้าไข้ แม้ยามผู้ป่วยสิ้นลมหายใจก็ช่วยจัดการอาบน้ำแต่งกายศพ ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของชาวบ้าน บ้างร้องเรียนให้ย้ายโครงการไปที่อื่น บ้างก็ประท้วงด้วยการไม่ใส่บาตร ต่อมาท่านได้พยายามชี้แจงจนชาวบ้านเข้าใจ กระทั่งเริ่มมีอาสาสมัครคอยให้ความช่วยเหลือในหลายด้าน กระนั้นก็ยังมีไม่เพียงพอ กล่าวคือหลายครั้งกลับมีผู้ป่วยมากเกินกว่าจะรองรับได้ หรือประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ท่านก็ยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่อไป ด้วยหลักปรัชญาที่ใช้ในการทำงานเสมอมา  นั่นก็คือความเมตตา ท่านจึงเป็นเสมือนแสงธรรม เป็นที่พึ่งสุดท้ายแก่ผู้ป่วยอย่างแท้จริง

ต่อมาใน ปีพ.ศ.๒๕๓๗  โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ได้รับการจัดตั้งเป็นมูลนิธิธรรมรักษ์ จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานให้ ปัจจุบันมูลนิธิธรรมรักษ์รับภาระดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์กว่า ๑,๐๐๐ ชีวิต โดยได้ขยายโครงการออกไปเป็นโครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ ๒ ที่อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ทั้งยังได้ก่อตั้งบ้านเด็กธรรมรักษ์ บ้านพักคนชรา และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๓๓ ขึ้นรองรับเด็กและคนชราที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียพ่อแม่หรือลูกจากโรคเอดส์ นอกจากการสร้างที่พักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์แล้ว  ท่านยังได้สร้างชุมชนบำบัดขนาดใหญ่เพื่อเป็นพื้นที่รองรับชีวิต โครงการธรรมรักษ์นิเวศน์ ๒ ถือเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่มีทั้งโรงเรียน สำนักงาน โรงพยาบาล มีกิจกรรมให้คนในเมืองนี้ได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนทั่วไป มีครอบครัว มีบ้าน มีงานทำ มีสังคม เหมือนคนปกติ ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์อย่างแท้จริ

ด้วยค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนที่สูงถึงกว่า ๔ ล้านบาท พระอุดมประชาทรในวัย  ๖๐ ปี ยังคงต้องออกบิณฑบาตและรับกิจนิมนต์ทุกวัน เพื่อรับบริจาคเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย และยังดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แม้จะมีแรงเสียดทานหรือข้อกังขาจากสังคมต่อสิ่งที่ท่านทำอยู่ แต่ท่านก็ยังคงยึดถือศรัทธาในการทำงาน ละวางคำติฉินนินทา ดังที่ท่านมักกล่าวเสมอว่า“คนสรรเสริญ คนนินทา แม้กระทั่งคนที่พยายามจะทำให้เราล้ม มีเป็นธรรมดา ทำให้เราได้รู้ว่า เมื่อเราจะยืนหยัดอยู่อย่างนี้ เราต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และถึงมันจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็แล้วแต่ แต่เราต้องไม่ตาย ไม่ตายในที่นี้คือไม่ตายจากศรัทธาในสิ่งที่เรามี ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านตรัสว่า จงยังประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ถ้าแปลเป็นภาษาง่ายๆก็คือ จงมีชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้ถึงที่สุด หลวงพ่อเอง ถ้าต้องเกิดอีก    ก็ขอเป็นคนที่เกิดมาเพื่อให้คนอื่น มีใจของการเป็นผู้ให้ แต่ไม่ได้ให้เพื่อให้ตัวเองได้รับการยกย่องสรรเสริญ

บรรยากาศในงาน นอกจากคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จะเป็นประธานในงานแล้ว ยังมี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการตัดสิน คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) คุณถนัด ไทยปิ่นณรงค์กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด คุณระพี อุทกะพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าปลีก บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด และคุณสุภาวดี โกมารทัต คณะกรรมการตัดสิน มาร่วมแสดงความยินดีกับพระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) และร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย 

เริ่มงานด้วยคุณไก่ – มีสุข แจ้งมีสุข พิธีกรภายในงาน กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ พร้อมนำชมวีดิทัศน์ความเป็นมาของรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ จากนั้นคุณเมตตาประธานในงานกล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงานและสุนทรกถาแก่ผู้ได้รับรางวัลประจำปี ๒๕๕๖ และ ดร.สมกียรติ อ่อนวิมล ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลได้ขึ้นกล่าวคำประกาศเกียรติคุณ ต่อด้วยการฉายวีดิทัศน์ชีวิตและผลงานของพระอุดมประชาทร และปาฐกถาพิเศษ “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก” โดยพระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) ผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ ๑๐ ประจำปี ๒๕๕๖ โดยท่านได้พูดถึงการต่อสู้และการดูแลรักษาผู้ป่วย โรคเอดส์ของวัดพระบาทน้ำพุตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า ๒๐ ปี ให้วัดพระบาทน้ำพุยังคงดำรงอยู่เพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ขาดโอกาสได้มีที่พึ่งพิงตลอดไป พร้อมยกตัวอย่างผู้ป่วยซึ่งในปัจจุบันบางท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ ให้เราตระหนักถึงพิษภัยโรคเอดส์ แม้ในปัจจุบันอัตราการติดเชื้อเอดส์จะลดน้อยลง สุดท้ายท่านยังเชื่อว่า การตั้งใจบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด การเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และการมีชีวิตอยู่โดยการชำระจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ตามที่พระพุทธองค์ได้สอนไว้ จะนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง ปิดท้ายด้วยคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์              พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ประธานในงาน ถวายโล่รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ และเงินรางวัลรวมมูลค่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แด่พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) และถ่ายภาพร่วมกัน

ตลอดระยะเวลากว่า  ๒๐ ปี ในฐานะพระสงฆ์ พุทธสาวกของพระพุทธเจ้า พระอุดมประชาทรได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และบำบัดทุกข์ให้แก่สัตว์โลกอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมทั้งสร้างโครงการต่างๆมากมายเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันเพื่อให้วัดพระบาทน้ำพุยังคงเป็นสถานที่บำบัดและช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัวและสังคมให้ได้รับการดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตตลอดไป คณะกรรมการตัดสินได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เป็นผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad