เอกชนแนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดข้อจำกัด SME เข้าถึงสินเชื่อ หลังดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง 2 เดือนต่อเนื่อง และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เอกชนแนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดข้อจำกัด SME เข้าถึงสินเชื่อ หลังดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง 2 เดือนต่อเนื่อง และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน

 


วันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเมษายน 2564 และต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้าและภาครัฐมีการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังชะลอตัวและอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันรวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ในด้านการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรม  ยานยนต์และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านโครงการเราชนะ  ม.33 เรารักกัน และเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยสนับสนุนกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายและเริ่มทยอยเปิดเมือง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากความสามารถในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ดี และความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทำให้การส่งออกของไทยได้รับอานิสงค์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 


จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,315 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 57.4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 34.5 ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 60.1, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 46.0 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 45.8 ตามลำดับ

 


สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนเมษายน 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และควบคุมสถานการณ์โควิด-19ให้คลี่คลายลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวของการส่งออกจะช่วยสนับสนุนให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น

 


ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1. เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเร่งกระจายวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด

2. ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ

3. ออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 30 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs

4. เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ ภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานโดยเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงาน

 


ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad