25 พฤษภาคม “วันไทรอยด์โลก” แพทย์ รพ. วิมุต ชวนคนไทยตื่นตัว “ไทรอยด์กับความเครียด” ความสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม แนะรีบสังเกต-รักษาก่อนส่งผลร้ายต่อการใช้ชีวิต - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

25 พฤษภาคม “วันไทรอยด์โลก” แพทย์ รพ. วิมุต ชวนคนไทยตื่นตัว “ไทรอยด์กับความเครียด” ความสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม แนะรีบสังเกต-รักษาก่อนส่งผลร้ายต่อการใช้ชีวิต

 


ในยุคที่ทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดจากการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบจนไม่มีเวลาพักผ่อน ความเจ็บป่วยไม่สบาย

หลายอย่างมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงผลจากความเหนื่อยล้า แต่จริง ๆ แล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า "ต่อมไทรอยด์" และ "ความเครียด" ส่งผลกระทบต่อกันและกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหากไม่ได้พบแพทย์ เราอาจตกอยู่ในวงจรการเจ็บป่วยอย่างไม่สิ้นสุด เนื่องในโอกาส “วันไทรอยด์โลก” นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อและควบคุมน้ำหนัก รพ.วิมุต จะมาชวนรู้จักและเข้าใจความสัมพันธ์ของไทรอยด์กับความเครียด พร้อมแนะนำวิธีสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อให้เรารีบพบแพทย์และรักษาโรคไทรอยด์ให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีได้เหมือนเดิม

รู้จัก “ต่อมไทรอยด์” ผู้คุมเสบียงพลังงานของร่างกาย

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่บริเวณลำคอด้านหน้า ทำหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์


นพ. ชาญวัฒน์ อธิบายว่า "หลายคนอาจไม่ทราบว่า ฮอร์โมนไทรอยด์มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบเมตาบอลิซึมหรือการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย การเจริญเติบโตและพัฒนาการ การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบย่อยอาหาร และระบบประสาท" เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจอย่างชัดเจน ในกรณี ของภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ผู้ป่วยมักมีอาการกระสับกระส่าย วิตกกังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับ ในทางตรงกันข้าม ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือไทรอยด์ต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป จะส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย คิดช้า และเซื่องซึม

นอกจากการทำงานที่ผิดปกติแล้ว ยังมีกลุ่มความผิดปกติของก้อนหรือรูปร่างต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีทั้งภาวะคอพอก (Goiter) ซึ่งต่อมไทรอยด์โตโดยอาจทำงานปกติหรือผิดปกติก็ได้, ก้อนต่อมไทรอยด์ (Thyroid Nodule) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นมะเร็งแต่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย และมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer) โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือมะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี (Papillary)

พาส่อง “ความเครียดและไทรอยด์” วงจรอันตรายที่มองไม่เห็น

นพ. ชาญวัฒน์ ชี้ว่า "ความเครียดเรื้อรังมีผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อทุกชนิด รวมถึงไทรอยด์ เมื่อเกิดความเครียดเรื้อรัง ร่างกายจะกระตุ้นระบบ HPA Axis ให้ทำงานมากขึ้น ส่งผลให้มีการหลั่งคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดมากผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานลดลงและกระทบการทำงานของต่อมไร้ท่อ รวมถึงไทรอยด์ นอกจากนี้ ความเครียดยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคเกรฟส์ (ไทรอยด์เป็นพิษ) และโรคฮาชิโมโตะ (ไทรอยด์ต่ำ) เนื่องจากความเครียดเรื้อรังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และสร้างแอนติบอดีที่ไปกระตุ้นหรือทำลายต่อมไทรอยด์”

ในทางกลับกัน การทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ใจสั่น พฤติกรรมหุนหัน และบางรายอาจถึงขั้นวิตกกังวลรุนแรงหรือมีภาวะตื่นตระหนก (Panic Attack) ส่วนภาวะไฮโปไทรอยด์สามารถทำให้เฉื่อยชา เบื่อหน่ายชีวิต สมาธิสั้น ความจำไม่ดี ซึ่งมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า จึงเห็นได้ชัดว่าทั้งความเครียดและไทรอยด์ผิดปกตินั้น ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน สร้างเป็นวงจรที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม

เปิดสัญญาณเตือน ความเครียดที่อาจเกี่ยวข้องกับไทรอยด์ผิดปกติ

สัญญาณที่อาจบ่งชี้ความผิดปกติของไทรอยด์ที่มากับอาการเครียด ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ มักจะกระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ร่วมกับอาการทางกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก น้ำหนักลดผิดปกติ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำ จะมีอาการซึมเศร้า เหนื่อยล้า ความคิดช้า ขี้ลืม น้ำหนักเพิ่มง่าย ผิวแห้ง และท้องผูกเรื้อรัง "หากพบอาการเหล่านี้พร้อมกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นอาการใหม่ที่เรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อการพักผ่อนหรือการจัดการความเครียดแบบทั่วไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์" นพ. ชาญวัฒน์ แนะนำ

“เหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์จนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้น เป็นเพราะอาการเริ่มต้นของโรคมักคล้ายกับความเครียดทั่วไป โรคไทรอยด์ส่วนใหญ่จะพัฒนาอย่างช้า ๆ ทำให้ผู้ป่วยเคยชินกับความผิดปกติ ในบางกรณีผลตรวจอาจดูปกติ ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาตามอาการแทนการตรวจคัดกรองฮอร์โมนต่อมไร้ท่อ จึงทำให้โรคไทรอยด์ดำเนินต่อไปจนมีอาการรุนแรง” นพ. ชาญวัฒน์ อธิบาย

โรคไทรอยด์ หายขาดได้ไหม ป้องกันอย่างไร?

นพ. ชาญวัฒน์ เผยว่าโรคไทรอยด์มีแนวทางการรักษาแตกต่างกันตามชนิดของโรค บางชนิดรักษาให้หายขาดได้ เช่น ไทรอยด์

เป็นพิษที่รักษาด้วยการกลืนแร่หรือผ่าตัด แต่บางชนิดต้องรักษาด้วยยาตลอดชีวิต เช่น ไทรอยด์ต่ำจากโรคฮาชิโมโตะ ทั้งนี้ทุกกรณีควรได้รับการวางแผนการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา โรคไทรอยด์จะลุกลามสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือเส้นเลือดสมองตีบ เกิดโรคกระดูกพรุนเพราะไทรอยด์เร่งการสลายกระดูก หรือในกรณีร้ายแรงอาจเกิดภาวะไทรอยด์วิกฤติ (Thyroid Storm) ที่อันตรายถึงชีวิต ส่วนภาวะไทรอยด์ต่ำที่ไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะโคม่าไทรอยด์ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก ระดับไขมันในเลือดสูง และภาวะซึมเศร้าเรื้อรังพร้อมสมองเสื่อมก่อนวัย ภาวะเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”

เราป้องกันโรคไทรอยด์ได้ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม การนอนหลับให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง การออกกำลังกายเป็นประจำ การงดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล ที่สำคัญคือควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของน้ำหนัก อารมณ์ และระดับพลังงาน พร้อมตรวจสุขภาพประจำปี และแจ้งประวัติหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ "การดูแลสุขภาพไทรอยด์และจัดการความเครียดต้องทำควบคู่กัน อย่ามองว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เป็นเรื่องธรรมดา คอยจับสัญญาณเตือนจากร่างกาย รีบพบแพทย์ และรีบหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว" นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ชั้น 9 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 07:00 - 19:00 น. โทร. 0-2079-0070 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือใช้บริการปรึกษาหมอออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad