ส.อ.ท. กังวลดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบต้นทุนการเงิน กำลังซื้อหด เบรคการลงทุนใหม่ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ส.อ.ท. กังวลดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบต้นทุนการเงิน กำลังซื้อหด เบรคการลงทุนใหม่

 


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 32 ในเดือนสิงหาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน”
 ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ จึงค่อนข้างมีความกังวลมากกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อีก 1 ครั้ง ในช่วงปลายปีนี้ และอาจกดดันให้ ธปท. ต้องมีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัว เนื่องจากภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ประชาชนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ภาคธุรกิจเกิดแรงกดดันที่อาจส่งผลทำให้การปรับราคาสินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริงทำได้ยากขึ้น ตลอดจนต้องชะลอการลงทุนใหม่ออกไป


ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ขอให้ธนาคารรัฐสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ มีการกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง รวมทั้งปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อลดภาระและช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น และขอให้ ธปท. พิจารณาชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อนในช่วงนี้

ด้านมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงและกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ในขณะนี้ ผู้บริหาร
ส.อ.ท. เสนอให้รัฐบาลยกระดับปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การเข้ามาดูแลค่าครองชีพของประชาชน เช่น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ เพื่อลดภาระให้ประชาชนมีเงินเหลือใช้มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงาน การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Incentives) ให้กับลูกหนี้ชั้นดี และส่งเสริมให้ประชาชนใช้มาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้สถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจรต่อไป
   

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 216 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก
45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 32 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้
1.  กรณี ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.25% ต่อปี ท่านมีความกังวลมากน้อยอย่างไร?
อันดับที่ 1 : มาก       60.2%       
อันดับที่ 2 : ปานกลาง   33.3%
อันดับที่ 3 : น้อย             6.5%

2.  ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเรื่องใด (Multiple choices)        
อันดับที่ 1 : กำลังซื้อสินค้าของประชาชนลดลงจากภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้    64.8%
                และหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น                                
อันดับที่ 2 : ทำให้เกิดแรงกดดันที่อาจทำให้การปรับราคาสินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริง 62.0%
                 ทำได้ยากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ     
อันดับที่ 3 : ชะลอการลงทุนใหม่ และมีการปรับลดกำลังการผลิตลงจากต้นทุนทางการเงิน   56.5%
                ที่เพิ่มขึ้น
อันดับที่ 4 : สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ       46.8%

3.  ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางในการรับมืออัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ     70.4% 
อันดับที่ 2 : ชะลอการลงทุน ปรับการบริหารกระแสเงินสดใหม่เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน    67.1%
อันดับที่ 3 : ปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความสามารถ     42.6%
                ในการดำเนินธุรกิจ
อันดับที่ 4 : หาแหล่งเงินทุนใหม่นอกเหนือจากการกู้เงินผ่านสถาบันการเงิน   31.5%
                เช่น การระดมทุน

4.  ภาครัฐควรมีมาตรการ/นโยบาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ธนาคารรัฐสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ SMEs   68.5%  
อันดับที่ 2 : กำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง   67.1%
                รวมทั้งปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดภาระและช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
อันดับที่ 3 : ธปท. ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย     58.8%
อันดับที่ 4 : ขยายระยะเวลามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ (ฟ้า-ส้ม) ออกไปอีก 2 ปี    36.1%

5.  ภาครัฐควรมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : มาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน เช่น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า  67.6%
               น้ำประปา เป็นต้น
อันดับที่ 2 : ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ   61.6%
                มีรายได้จากการทำงาน 
อันดับที่ 3 : มาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Incentives) ให้กับลูกหนี้ชั้นดี     60.2%      
                เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย การให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม เป็นต้น
อันดับที่ 4 : ส่งเสริมให้ประชาชนใช้มาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้     58.3%
                ทั้งในส่วนของหนี้สถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ

6.  คาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายในสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ระดับใด
อันดับที่ 1 : 2.25% ต่อปี     37.5%
อันดับที่ 2 : 2.50% ต่อปี     32.4%       
อันดับที่ 3 : 2.00% ต่อปี     30.1%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad