ซีพีเอฟ หนุนสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ปลูกผักปลอดสาร -ตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ซีพีเอฟ หนุนสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ปลูกผักปลอดสาร -ตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสนับสนุนชุมชนผลิตอาหารปลอดภัยไว้บริโภค  ต่อยอดโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร สู่การตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์  สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน               
    
"โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร" เป็นโครงการที่มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ภายใต้ระยะเวลาของโครงการ  5 ปี (ปี 2562-2566)  ซีพีเอฟส่งเสริมชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง  อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี   รวมกลุ่มกันปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีตามวิถีเกษตรแบบธรรมชาติไว้บริโภคในครัวเรือน  และตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ ตามภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งในปีนี้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯบางส่วน  สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์จากพืชผักที่ปลูกไว้ เพื่อส่งเข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์แล้ว เช่น   เมล็ดพันธุ์มะเขือคางกบ  มะเขือหยดน้ำทิพย์ มะเขือม่วงลิง มะเขือไข่เต่า  มะเขือเทศสีดา บวบหอม บวบพื้นบ้าน  มะระขี้นก กระเจี๊ยบเขียว  ฯลฯ  และยังนำเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวสนับสนุนโครงการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำเมล็ดพันธุ์กระจายให้ชุมชนต่างๆ   ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า  2019  หรือโควิด19          
    
นายประทีป  อ่อนสลุง  พี่มืด ชาวบ้านตำบลโคกสลุง  แกนนำกลุ่มไทยเบิ้ง  กล่าวว่า  โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร  มีเป้าหมายให้สมาชิกที่ร่วมโครงการ และชาวบ้าน  ผลิตอาหารไว้บริโภคเองในครัวเรือน  โดยปลูกผักปลอดสารเคมี และยังมีผลผลิตแบ่งปันให้พี่น้องและเครือข่าย ขณะที่ชุมชนมีการจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุุ์  เพื่อให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ปลอดสารไว้ขยายพันธุ์ต่อ เพราะเราอยากให้คนในชุมชนผลิตอาหารได้เอง  พึ่งพากันเองในชุมชน  เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน 

นอกจากนื้   เมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ชุมชนเก็บชุดแรกจากสมาชิกที่เข้าร่วมในโครงการบางส่วน จำนวน 21 ชนิด  นำมาแบ่งบรรจุซองเพื่อมอบให้กับ  "โครงการแผนปฏิบัติการ Quick Win 90วัน  ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร" ซึ่งเป็นโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน  ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่เน้นให้ชุมชนพึ่งตนเอง ปลูกผักเพื่อเป็นแหล่ง  อาหารและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
   
"ช่วงที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด  ชุมชนเราไม่ได้รับผลกระทบเรื่องการขาดแคลนอาหาร เพราะผักปลอดสารที่ปลูกไว้ เป็นแหล่งอาหารที่มั่นคง และยังเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย  " นายประทีป กล่าว

นายชุมพล สำราญสลุง  ชาวบ้านหมู่ 4 ตำบลโคกสลุง   สมาชิกของโครงการฯ และเป็นอีกคนหนึ่งที่ส่งเมล็ดพันธุ์ชุดแรกให้ธนาคารเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว 13 ชนิด  กล่าวว่า  ขอชักชวนให้ทุกครัวเรือนปลูกผักปลอดสารเคมี  และเก็บเมล็ดพันธุ์ติดบ้านไว้ เพราะจากวิกฤตโควิดทำให้รู้ว่าชุมชนเรารอดได้จากแหล่งอาหารที่เราผลิตได้เอง และยิ่งมองไปในระยะยาว การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤตครั้งไหน  ชุมชนก็ยังพึ่งพาตนเองได้  และเมล็ดพันธุ์พืชที่กระจายไปยังชุมชนอื่นๆ   เป็นการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหารของชุมชน                          

ด้านนายวราวุธ  อ่วมเอี่ยม  ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านห้วยบง ต.พัฒนานิคม  เล่าว่า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด  ชาวบ้านในชุมชนที่ปลูกผักปลอดสารเคมี อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาผลผลิตผักสวนครัวที่ปลูกไว้   ที่บ้านผมเอง มีผักที่ปลูกไว้หลากหลายชนิด  ทั้งมะเขือเทศ ถั่วดาวอินคา ผักติ้ว มะละกอ ผักไชยา  ฯลฯ และถึงแม้ว่าปีนี้เกษตรกรจะเจอปัญหาภัยแล้งด้วย แต่ชาวบ้านที่ร่วมโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข  ปลูกผักปลอดสาร  ได้รับความช่วยเหลือจากซีพีเอฟนำถังพลาสติกเพื่อกักเก็บน้ำขนาด 1000ลิตร และอุปกรณ์ระบบน้ำหยด มาให้  ช่วยให้พืชผักที่ปลูกออกผลผลิตได้ตลอด  หากไม่เกิดวิกฤตโควิด หลายคนก็คงมองไม่เห็นว่าการปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน ช่วยได้มาก เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างแท้จริง

"โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร" เป็นโครงการที่สนับสนุนให้ชุมชนเป็นเครือข่ายร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าในพื้นที่   โครงการต่อยอดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน หลังจากที่ซีพีเอฟดำเนิน
"โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ซึ่งบริษัทร่วมกับกรมป่าไม้และชุมชน  อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า ในพื้นที่เขาพระยาเดินธง 5,971 ไร่   เป็นอีกโครงการที่ซีพีเอฟร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ./  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad