อย. ผนึก ส.อ.ท. ลงนามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภคด้วยบาร์โค้ดสองมิติ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

อย. ผนึก ส.อ.ท. ลงนามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกระดับความปลอดภัยผู้บริโภคด้วยบาร์โค้ดสองมิติ




 วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ ห้องประชุม 110 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มุ่งยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และตรงตามมาตรฐานสากลด้วยการใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ GS1 DataMatrix และ QR Code - GS1 Digital Link URI


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศไทยที่จะพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติ ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และทรัพยากร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเป็นที่ยอมรับในสากล

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทยมีศักยภาพ และต่อยอดขีดความสามารถให้แข่งขันกับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และให้คนไทยได้มีโอกาสที่จะได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการกำหนดแนวทางความร่วมมือร่วมกันของ ส.อ.ท. และ อย. ผ่านการทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งนี้ โดยทาง ส.อ.ท. จะเร่งมุ่งส่งเสริมและผลักดันการยกระดับคุณภาพในการผลิตของสมาชิก ส.อ.ท. ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากล ภายใต้นโยบาย “One FTI” (One Vision, One Team, One Goal) และจะขับเคลื่อนการนำระบบมาตรฐานสากล GS1 ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านหน่วยงาน สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand เพื่อช่วยให้ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพเกิดความโปร่งใส (Supply Chain Visibility) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ดร.คมสัน เหล่าศิลปเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) กล่าวเสริมว่า สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง ส.อ.ท. และ อย. ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานและนำเสนอโครงการต่างๆ ที่จะร่วมผลักดันในอนาคต เพื่อยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และตรงตามมาตรฐานสากล

สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 Thailand มีภารกิจหลักในการเป็นนายทะเบียนผู้ออกเลขหมายบาร์โค้ดตามมาตรฐานสากล GS1 อย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้นำเสนอการบ่งชี้สินค้าสุขภาพด้วยรหัสมาตรฐานสากล GS1 และใช้เทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ ประเภท GS1 DataMatrix มารองรับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการเรียกคืนสินค้า (Recall) ตามมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับกฏหมาย Traceability ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิติ ประเภท QR Code - GS1 Digital Link URI ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับโครงการ e-Labelling ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการดำเนินการ

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยว่า ที่ผ่านมา อย. และสถาบันรหัสสากล ได้ร่วมมือกันใช้มาตรฐานสากล GS1 ในหลายผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2563 ได้มีการใช้กับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับและติดตามการกระจายในระดับรายชิ้นได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วทั้งในประเทศและต่างประทศ รวมไปถึงในปี 2564 ได้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นคำแนะนำเบื้องต้นในการใช้มาตรฐานสากล GS1 สำหรับใช้ติดตามการกระจายวัคซีนโควิด-19 และตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของวัคซีน นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังได้นำมาตรฐานสากล GS1 (QR Code) มาใช้ในการจัดการฉลากยาอิเล็กทรอนิคส์ (e-Labelling) ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และรวดเร็ว สำหรับในระยะต่อไป ทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมมือกันพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและการป้องกันการปลอมแปลงของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ โดยจะร่วมมือด้านวิชาการและเทคนิคมาตรฐานต่าง ๆ ในการประยุกต์ใช้สัญลักษณ์บาร์โค้ดแบบ 1 มิติ และ 2 มิติ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการกำหนดกฎหมายและข้อบังคับด้าน Coding & Serialization ของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ และป้องกันการปลอมแปลง เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และยกระดับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศให้มีมาตรฐานสู่ระดับสากล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad