ปศุสัตว์ปลื้ม ปีทองหมูไทย ตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ หมูปลอดสาร-ปลอดโรค - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ปศุสัตว์ปลื้ม ปีทองหมูไทย ตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ หมูปลอดสาร-ปลอดโรค

 


ในห้วงเวลาที่โควิด-19 ยังคงพ่นพิษทำให้หลายประเทศต้องระส่ำระส่าย ทั้งเรื่องโรคที่ยังควบคุมไม่ได้ ระบบโลจิสติกที่แทบจะหยุดชะงัก การขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้ายากลำบาก ส่งผลต่อความหวั่นวิตกในความมั่นคงและความปลอดภัยในอาหาร



ขณะที่ประเทศไทยมีความพร้อม ทั้งในแง่ของความเพียงพอและมั่
นคงในอาหาร เพื่อคนไทยและผู้บริโภคทั้งโลก ที่สำคัญอาหารที่ผลิตได้นั้นมีความปลอดภัยในระดับสูง เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ย้ำว่า ภายใต้ความมุ่งมั่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ในการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหารมาตั้งแต่ต้น ขณะเดียวกัน ไทยยังมีชื่อเสียงทั้งด้านการป้องกันโรคในคนและโรคในสัตว์ติดระดับโลก ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี การผลิตและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะ “สุกร” สินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญและเป็นที่น่าจับตามอง จนกลายเป็น “สินค้าเรือธง” ในวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น ปี 2563 นี้ จึงถือเป็น “ปีทองของหมูไทยอย่างแท้จริง”


สำหรับหัวเรือใหญ่ในการดำเนิ
นการเรื่องนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ให้ข้อมูลภาพว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในระดับโลกด้านมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) จากการให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก สะท้อนจากความสามารถในการส่งออกหมูสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะความสำเร็จที่ไทยสามารถป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF โรคร้ายแรงในสุกรที่สร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วโลก แต่ไทยยังคงสถานะ “ปลอดโรค ASF” มานานกว่า 2 ปี จนเป็นไข่แดงเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ จุดนี้ทำให้สุกรไทยเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศ ที่ต้องการนำเข้าสุกรจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ที่ปลอดภัย ปลอดโรค “ปลอดสารเร่งเนื้อแดง” เพื่อป้อนผู้บริโภคของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่โดน ASF เล่นงาน ปริมาณผลผลิตในประเทศจึงลดลง ทำให้ราคาหมูมีชีวิตสูงขึ้น ล่าสุดมีข่าวดีจากภาคผู้ผลิตสุกร ที่ได้ลงนาม MOU การส่งออกสุกรไปเวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว  

ความสำเร็จดังกล่าวนี้ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่น จนสามารถป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดกับเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกเฉพาะปี 2563 นี้ ไทยส่งออกสุกรมีชีวิตจำนวนมากกว่า 2.2 ล้านตัว รวมถึงเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร มีปริมาณมากกว่า 54,000 ตัน มีมูลค่าทะลุ 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% จากปีที่ผ่านๆมา

ล่าสุดครม. อนุมัติงบฯกลางของสำนักนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1,111 ล้านบาท ให้กับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้ป้องกัน ASF ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ถือเป็นการยกระดับการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น และยังเป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างปราการป้องโรค ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเข้าไทยได้

สำหรับหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF และโรคอื่นๆในสุกร ต้องยกเครดิตให้กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ กรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ระดมสรรพกำลังทั้งเฝ้าระวัง ป้องกัน และให้ความรู้ โดยเน้นย้ำเกษตรกรให้ดูแลสุขภาพสัตว์เป็นพิเศษ มีการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity system) ในระดับสูงสุด

รวมถึงการควบคุมทุกๆโรคในสุกรอย่างเข้มงวด สำหรับฟาร์มที่พบปัญหาสุขภาพสัตว์ หรือต้องสงสัยว่ามีโรคระบาด ก็จะเข้าสู่มาตรการทําลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ เพื่อขีดวงจำกัดไม่ให้แพร่กระจายไปยังฟาร์มอื่นๆ ตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อในสัตว์ของภาครัฐ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตสุกรและเกษตรกรต่างให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ ในการป้องกันโรค ทุกคนต่างเน้นการจัดการฟาร์มตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มแข็ง ตามหลัก “ป้องกันไว้ดีกว่าแก้”  

ขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐ สมาคมผู้เลี้ยงสุกร ภาคเอกชน และเกษตรกร ยังคงบริหารจัดการผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศเป็นหลัก สำหรับปริมาณการผลิตสุกรขุนของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 55,000 ตัวต่อวัน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 50,000 ตัวต่อวัน การผลิตจึงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับผลผลิตส่วนที่เกินจากการบริโภคนั้น จะทำการส่งออกในรูปแบบสุกรขุน สุกรพันธุ์ ลูกสุกร ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเงินตราเข้าประเทศ โดยมีคณะกรรมการดูแล ทั้ง 5 หน่วยงานคือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ตามมติของพิกบอร์ด โดยมีการรายงานภาวะการส่งออกต่อ รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ทุกๆ 15 วัน

“ผู้บริโภคจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนสุกรภายในประเทศ ส่วนเกษตรผู้เลี้ยงก็ไม่ต้องกังวลว่าปริมาณภายในจะเหลือจนส่งผลกระทบต่อภาวะราคาเช่นกัน”

ทั้งหมดนี้ เป็นภาพสะท้อนปีทองของหมูไทย กับความสำเร็จในการสร้างผลผลิตสุกรให้เพียงพอกับคนไทย และยังเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่บุกตลาดต่างประเทศ นำรายได้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติได้อย่างแท้จริง./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad