“แฮกกาทราเวล” เปลี่ยน “ไอเดีย”ให้กลายเป็น “ธุรกิจ” โครงการสร้างนักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัล - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

“แฮกกาทราเวล” เปลี่ยน “ไอเดีย”ให้กลายเป็น “ธุรกิจ” โครงการสร้างนักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัล

เมื่อทิศทางของอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลกได้ถูกเปลี่ยนตั้งแต่โฉมหน้า รูปแบบ ผู้เล่น ไปจนถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรม จากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ การ Digitalization และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง เราได้เห็นธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้น ธุรกิจบางอย่างล้มหายไป และอีกจำนวนมากต้องเร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ .....แล้วในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย กำลังพบกับความท้าทายอะไร และเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน??


จากโจทย์ใหญ่ที่กำลังก้าวเข้ามาท้าทายนี้.....การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงผนึกกำลังร่วมกับ เทคมีทัวร์ (TakeMeTour) เว็บไซต์ในการบริการจองทริปส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและกำลังขยายออกไปในประเทศต่างๆ ในอาเซียนอย่างรวดเร็วในฐานะ Travel Tech Startup แถวหน้าที่เข้มแข็งรายหนึ่งของประเทศไทย จัดโครงการ แฮกกาทราเวล (HackaTravel) ขึ้นเพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นผู้ประกอบการด้าน Travel Tech เปรียบเสมือนกับการสร้าง “นักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่” เข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไกลเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยแนวคิดเปลี่ยน “ไอเดีย” ให้กลายเป็น “ธุรกิจ”


นายนพพล อนุกูลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งเทคมีทัวร์ เล่าถึง โครงการแฮกกาทราเวลว่า เป็นการจัดแข่งขันในรูปแบบแฮกกาธอน (Hackathon) ด้วยการเชิญชวนนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาด้าน software developer และบุคคลทั่วไปที่ทำงานเป็นนักพัฒนาหรือ developer และมีไอเดียเกี่ยวกับนวัตกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อเข้ามาต่อยอดพัฒนาจากไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจได้จริงๆ นอกจากยังมีโอกาสได้รับความรู้ และคำแนะนำดีๆ จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีและแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
การจัดโครงการแฮกกาทราเวลครั้งนี้ มีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 268 คน จากนั้นได้มีการคัดเลือกเพื่อพิจารณาผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความพร้อมในการแข่งขัน โดยคัดจากคุณสมบัติ ได้แก่ ความรู้ทางเทคโนโลยีเป็น software developer นักการตลาดออนไลน์ที่มีความสามารถทางธุรกิจหรือผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 90 คน
ทั้งนี้การแข่งขันได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 2 วันเต็ม โดยการแข่งขันแบ่งเป็นทีมๆ ละ 3-6 คน รวมทั้งหมด 14 ทีม ซึ่งแต่ละทีมสามารถเลือกโจทย์การแข่งขันได้จาก 4 หัวข้อหลักที่กำหนดไว้ ได้แก่ 1. Emerging Destination Tourism การท่องเที่ยวเมืองรอง 2. Tools For Tourism Business เครื่องมือทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3. Enabling Seamless Travel Experience เครื่องมืออำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยว 4. Smart Data การเก็บและประยุกต์การใช้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว
สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าเงินรางวัล 150,000 บาท ไปครองได้แก่ ทีม Dream Team เจ้าของผลงาน/ไอเดีย "WatchMe” ซึ่งน้องๆ เป็นนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จำนวน 5 คน ได้แก่ นายวิรวัตน์ โรจนพงษ์พร นายวิศรุต อุดมผล นายศุภกร ตระกูลมัยผล นายรัชฐนัน ศรีพรประเสริฐ และนายแพทริก เอมเมล


ไอเดีย "WatchMe” ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองได้สำเร็จครั้ง เป็นไอเดียที่น้องๆ ได้นำเทคโนโลยี SmartWatch ในส่วนของระบบ sensor ที่ช่วยตรวจจับความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดินทาง มาสร้าง "Security" ให้กับทักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ด้วยการต่อยอดไปถึงด้านการซื้อประกันเดินทาง รวมไปถึงการเก็บ data ด้าน "อารมณ์" เพื่อนำมาพัฒนาประสบการณ์ในการท่องเที่ยว
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับรางวัลเงินสดมูลค่า 100,000 บาทไปครอง ได้แก่ ตกเป็นของทีม Olderly มาจากคำว่า older + journey ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดคนรุ่นใหม่ทั้ง 6 คนที่ต่างมารวมตัวกันในเวทีการแข่งขันครั้งเพราะมีความตั้งใจเดียวกันในสร้างสรรค์นวัตกรรมท่องเที่ยวเพื่อกลุ่มผู้สูงวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ขึ้นไป ได้แก่ นายกัมพล อุฬารวิริโย นายศรัณย์ แสงสมบูรณ์ นายปฐมพงศ์ ปันดี นายอภิชัย โคตะนันท์ นายรุ่งโรจน์ เพ็ชรเขียว นางสาวกัญญารัตน์ เพ็ชรเขียว และ Niels Domingvez
โดยไอเดียของทีมนี้ เป็นการสร้าง platform "การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ" ผ่านช่องทาง แชทบอท (Chatbot) โดยเริ่มจากไลน์ เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายและสะดวก เพราะผู้สูงอายุจำนวนมากสามารถใช้ ไลน์ได้ โดย platform จะมีทั้งเรื่องของการแนะนำ การให้บริการ ไปจนถึงการจองทัวร์หรือสถานที่พิเศษต่างๆ ด้วย
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รับรางวัลเงินสดมูลค่า 50,000 บาท เป็นของทีม Odyssey เจ้าของผลงาน "Gamification" การท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวไหลเข้าสู่เมืองรองมากขึ้น โดยได้รับประสบการณ์พิเศษเป็นองค์ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับแต่ละพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีเดียวกันกับ "Pokemon-Go" ให้นักท่องเที่ยวสามารถไปยังสถานที่สุดพิเศษได้ง่ายๆ
นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษจากบริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (แสนสิริ) มอบให้กับทีม : Away-new เจ้าของผลงาน"CEPT" เทคโนโลยี self-check in ด้วยระบบ Dynamic QR Code ให้นักท่องเที่ยวสามารถ self-check in เข้าสู่โรงแรม หรือ โฮสเทลได้อย่างสะดวกโดยที่ไม่ต้องมีพนักงาน reception ช่วงเวลากลางคืนเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ
เรียกว่าแต่ละทีมเค้นไอเดียมาประชันกันแบบจัดเต็ม!!
สำหรับการจัดแข่งขันครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเฟ้นหาไอเดียเจ๋งๆ จากคนรุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวแล้ว สิ่งสำคัญของโครงการคือการเปลี่ยนไอเดียเหล่านี้ให้เป็น "ธุรกิจ” จริงๆ ด้วยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับคำปรึกษาจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรง ที่เข้าใจเส้นทางการประสบความสำเร็จของวิสาหกิจเริ่มต้น โดยการสนับสนุนต่อยอดธุรกิจจากพันธมิตรต่างๆ ของโครงการ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank), บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (แสนสิริ) และ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad