‘Beesanc’ โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรง สู่ ‘น้ำผึ้งตามสั่ง’สายพานอาชีพเศรษฐกิจเอื้อชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566

‘Beesanc’ โมเดลการเลี้ยงผึ้ง-ชันโรง สู่ ‘น้ำผึ้งตามสั่ง’สายพานอาชีพเศรษฐกิจเอื้อชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)



 หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า“น้ำผึ้ง”กลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแพร่หลายเนื่องจากน้ำผึ้งถือเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยต้านทานโรคต่างๆ ได้ดี ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจและรักษาเรื่องสุขภาพมากขึ้น และจากความต้องการของตลาด ส่งผลให้น้ำผึ้งได้รับความนิยมมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ที่เน้นอาหารคลีน เน้นธรรมชาติ เน้นอาหารปลอดสาร เริ่มให้ความสนใจน้ำผึ้งมากขึ้น


รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร
 (Native Honeybee and Pollinator Center) หรือ Bee Park มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) (มจธ.ราชบุรี) กล่าวถึงศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร ว่า เป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปต่อยอดขยายผลในเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนด้วยการเลี้ยงผึ้งและชันโรงกระจายสู่ชาวบ้านในพื้นที่

การทำงานดังกล่าวภายใต้ บีแซงโมเดล (Beesanc Model) ซึ่งมีแนวคิดในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้การบริหารจัดการของภาคธุรกิจบวกกับความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมสังคมเป็นกลไกหลักในการกระบวนการผลิต พัฒนา สร้างน้ำผึ้งพื้นเมืองมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

“นอกจากเป็นชื่อแบรนด์แล้ว Beesanc ยังเป็นโมเดลการเลี้ยงผึ้งพื้นเมืองไทย ที่เป็นการนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบคุณลักษณะน้ำผึ้งที่ตลาดต้องการ เช่น รส กลิ่น สี ปริมาณน้ำผึ้ง หรือชนิดน้ำหวานจากดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมาโดยมีคุณสมบัติทางยาบางชนิด ซึ่งความพิเศษดังกล่าวนำไปสู่การสร้างอาชีพให้กับชุมชนและเป็นการปลูกฝังให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร หันมาใส่ใจธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยน้ำผึ้งที่เกษตรกรเครือข่ายนำมาขายกับศูนย์ฯ จะได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI  ผู้ซื้อจะทราบว่าใครเป็นผู้ผลิต ผลิตจากที่ไหน ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถไปซื้อกับเกษตรกรผู้ผลิตเองได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้แบรนด์ Beesanc หรือถ้าเกษตรกรต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง มจธ. ก็มีอาจารย์และนักวิจัยเข้าไปช่วยดูช่วยพัฒนาแบรนด์ให้ด้วย”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ Beesanc เป็นน้ำผึ้งออแกนิคแท้ 100% ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานและคุณค่าบ่งชี้ทางสุขภาพจาก Lab วิจัย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าอยากได้ค่าน้ำผึ้งแบบไหน อย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร ด้วยแนวคิด “น้ำผึ้งธรรมชาติที่มีคุณภาพที่ออกแบบเองได้โดยผู้บริโภค” หรือ “น้ำผึ้งตามสั่ง” นั่นเอง ถือเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคในการผลิตน้ำผึ้งที่มีมูลค่าสูงออกสู่ตลาด ที่ต้องการสื่อถึงรสชาติของน้ำผึ้งเขตร้อนในแต่ละมิติซึ่งมีความหวานของน้ำผึ้งแตกต่างกันออกไปตามรสชาติของดอกไม้ที่ผึ้งเก็บมา โดยมี Beesanc ทำหน้าที่เสมือนโชว์รูม ให้คนเข้ามาชิม ช้อป และสื่อสารกับผู้บริโภคสู่ความเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกหรือระดับสากล  

รศ.ดร.อรวรรณ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน Beesanc มีการฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้สนใจในการเลี้ยงผึ้งและชันโรง โดยทางชุมชนได้ขยายเครือข่ายไปยังเด็กชายขอบและโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากกลุ่มเยาวชนในพื้นที่เหล่านี้ หลังจากจบการศึกษาระดับประถมไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ดังนั้นการมีอาชีพรองรับพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะทำให้เด็กและเยาวชนนอกระบบเหล่านี้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว รวมทั้งสามารถดูแลระบบนิเวศในพื้นที่บ้านเกิดของเขาต่อไป

“ตอนนี้ได้ขยายการเลี้ยงผึ้งและชันโรงไปยังเด็กชายขอบและเด็กนอกระบบ รวมทั้งมีการเพิ่มหลักสูตรเข้าไปในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการเลี้ยงตั้งแต่ต้นจนกระทั่งเด็กจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อจบออกไปสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้สามารถนำน้ำผึ้งมาขายให้กับศูนย์ฯ ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ศูนย์ฯ กำหนด โดยเรามีการรับซื้อทั้งหมด  เช่น เป็นน้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติ มีการเก็บน้ำผึ้งที่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น ซึ่งราคาที่ได้จะเป็นไปตามกลไกของตลาด”

โมเดลการเลี้ยงผึ้ง Beesanc มีความหมายว่า “สวรรค์ของผึ้ง” มาจากการรวมกันของคำว่า Bee ที่แปลว่าผึ้ง และ Sanctuary ที่แปลว่าสวรรค์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โมเดลนี้สนับสนุนให้เกิดการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นมิตรกับผึ้ง ทั้งในแง่ความปลอดภัยจากสารเคมี การปลูกพืชอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำผึ้ง และการปลูกพืชสมุนไพรชนิดพิเศษ ที่เพิ่มคุณค่าทางสุขภาพให้กับน้ำผึ้งที่ผลิตได้ ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้ค่อยๆ อุดมสมบูรณ์ขึ้นทีละน้อย จนวันหนึ่งก็จะมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตพืชปลอดสารพิษ์พร้อมกับสามารถผลิตน้ำผึ้งให้รายได้เสริมให้ครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม


ด้านนายแมนรัตน์ ฐิติธนากุล
 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา กล่าวว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วชุมชนแห่งนี้เคยเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงที่ขึ้นชื่อเรื่อง“การใช้ยาฆ่าแมลงอย่างเข้มข้น” เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพทำเกษตรปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลัก จนกระทั่งตนได้เป็นผู้ใหญ่บ้านแทนพ่อ เพราะพ่อเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อในกระแสเลือดเนื่องจากยาฆ่าแมลงจากการทำไร่สับปะรด จากความสูญเสียดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการลุกขึ้นมาทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี 100 % ในช่วงแรกผู้ใหญ่แมนรัตน์ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากมากโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทัศนคติของลูกบ้านในเรื่องลดการใช้สารเคมีในแปลง

“โจทย์คือทำอย่างไรให้ชาวบ้านเลิกใช้สารเคมีด้วยการเปลี่ยนความคิดจากตัวเขาเอง ประกอบกับตัวเราเองตั้งใจจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่อยากข้องเกี่ยวกับสารเคมี ไม่อยากทำไร่สับปะรด แต่อยากมีอาชีพเสริมอื่น จึงเข้าไปคุยกับอาจารย์ที่ศูนย์ฯ จากนั้นจึงได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ตอนแรกลองเอามาเลี้ยงเองก่อนและแจกชันโรงให้ชาวบ้านในชุมชนเลี้ยงด้วย เพื่อให้ชันโรงเป็นตัวกลางในการลดการใช้ยาฆ่าแมลง แรกๆ ชาวบ้านทุกคนเอากลับมาคืนหมด แต่มีน้องที่ตกงานช่วงโควิด-19 เขาลองเลี้ยงไปสัก 5-6 เดือน แล้วนำมาขายได้ราคาได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว คนอื่นจึงเริ่มสนใจเลี้ยงบ้าง จากเดิมมีผู้ใหญ่และเด็กนอกระบบประมาณ 5-6 คนเท่านั้น จากนั้นมีการบอกต่อปากต่อปากจึงเกิดการขยายเครือข่ายการเลี้ยงผึ้งและชันโรงในวงกว้าง ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการเลี้ยงผึ้งและชันโรงจึงค่อยๆ ลดการใช้สารเคมีไปโดยปริยาย”

จากประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยประกอบกับปณิธานอันแรงกล้า ทำให้ผู้ใหญ่แมนรัตน์ มีการสานต่ออุดมการณ์เพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรและต้องการให้ลูกบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายโรงเรียนใกล้บ้านอบรมหลักสูตรการเลี้ยงผึ้ง หลังจากนั้นมีการเพิ่มเนื้อหาดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย


“เด็กที่นี่จะเรียนต่อน้อยมาก พอจบ ป.6 ก็ไม่ได้เรียนแล้ว เราต้องไปดึงเขาเข้ามาในระบบด้วยการฝึกอบรมอาชีพให้เขา เพราะใครๆ ก็สามารถเลี้ยงผึ้งและชันโรงได้ เพียงแค่บริเวณนั้นต้องเป็นการทำเกษตรอินทรีย์เท่านั้น เพราะผึ้งจะดูดน้ำหวานจากผลไม้หรือดอกไม้ที่ไม่มีสารเคมี ซึ่งทางกลุ่มได้มีการฝึกอบรมอาชีพการเลี้ยงผึ้งและชันโรงฟรีมาโดยตลอด เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้และลดการใช้สารเคมีในชุมชนให้มากที่สุด”

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพื้นเมืองและชันโรงอำเภอบ้านคา มีสมาชิกประมาณ 300 คน หน้าที่ของวิสาหกิจคือ เน้นการส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องผึ้งและชันโรงที่ถูกต้องโดยได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้รวบรวมน้ำผึ้งจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับศูนย์ฯ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Beesanc โดยน้ำผึ้งโพรงทางศูนย์ฯ รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 500 - 600 บาท น้ำผึ้งชันโรงรับซื้อที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท  

นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนฯ ยังมีทำกล่องหรือบ้านผึ้งส่งขายด้วย โดยมีออเดอร์ในแต่ละเดือนประมาณ 200-300 ใบต่อเดือน ซึ่งอาชีพดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมี ก่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน.///

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad