สรท. วิตกสถานการณ์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ฉุดรั้งการส่งออกและการลงทุนไทย - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

สรท. วิตกสถานการณ์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ฉุดรั้งการส่งออกและการลงทุนไทย


นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับนางจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ สรท. ดร.ชัยชาญ เจริญสุข กรรมการ สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องประชุมสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 10.30-12.00 น. การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 20,219 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 2.59% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 601,507 ล้านบาท หดตัว -3.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 20,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 21.99% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า  610,035 ล้านบาท ขยายตัว 20.39% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ -8,528.15  ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนกุมภาพันธ์ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.87)

ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- ก.. ปี 2564 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 39,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 1,188,881 ล้านบาท หดตัว -2.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 40,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 6.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 1,211,933 ล้านบาทขยายตัว 5.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. 2564 ประเทศไทยขาดดุลการค้า -195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ -23,051.96  ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.. – ก.พ. การส่งออกขยายตัว 5.15%) การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ข้าว ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ -4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สิ่งทอ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด

ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตร้อยละ 3-4 (ณ เดือนเมษายน 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1)  สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้นทั่วโลก อาทิ 1.1) การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีมากขึ้น ส่งผลบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของระดับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 500 ล้านโดส กว่า 140 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1.36 แสนโดส 1.2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อการผลิต (PMI Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มกลาง-ล่าง จากการได้รับเงินช่วยเหลือ 1,400 เหรียญสหรัฐ/คน อีกทั้งนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นเท่าตัวจาก 7.5 เป็น 14 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง จะส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และ Work from Home เช่น ถุงมือยาง, หน้ากากอนามัย, ผลไม้แปรรูป, อาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงอาหาร รวมถึงเครื่องดื่ม อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 3) ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังจะเห็นได้จากการปรับคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีในขึ้นในหลายหน่วยงานและตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นการสนับสนุนอุปสงค์การใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น และ 4) ค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่า ในรอบ 4 เดือน จากอานิสงส์การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ซึ่งมีแรงหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสถานะการขายสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดทุน

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) ปัญหา International Logistics อาทิ 1.1) ปัญหาเรือ Ever Given บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์กว่า 20,000 TEUs ประสบอุบัติเหตุในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งจากเอเซียไปยุโรป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หลายร้อยลำไม่สามารถผ่านเส้นทางนี้ได้ และส่งผลทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่ากำหนดกระทบภาคการผลิต รวมทั้ง อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาความแออัดในบริเวณท่าเรือ Said Port และ Suez Port รวมทั้ง Transshipment Port ที่สำคัญ รวมทั้งปัญหาการส่งมอบสินค้าล่าช้า และสายเรืออาจจะมีการปรับค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น (Spot Rate) รวมถึงค่า Surcharge ในบางรายการ อาทิ Bunker Adjustment Factor (BAF), Low Sulphur Surcharge (LSS) เป็นต้น 1.2) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง ผนวกกับจำนวนตู้ที่กลับเข้าสู่ระบบก็ยังไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในการส่งออกของทุกประเทศทั่วโลก ประกอบกับอัตราค่าระวางยังคงทรงตัวในระดับสูงหลายเส้นทางสำคัญ อาทิ EU / US East-West coast ซึ่งมีแนวโน้มที่ค่าระวางเรืออาจทรงตัวในระดับสูงไปจนถึงปลายปี 2564 1.3) ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะในช่วงปลายสัปดาห์ที่มีการขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก ทำให้รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ต้องเสียเวลารอขนถ่ายสินค้านำเข้าและส่งออกนานกว่า 7-15 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณท่าเรือ C3 และ B5 ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 2) การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจกลับมาชะลอได้อีกครั้ง 3) ปัญหาชิปขาดแคลน ก่อนหน้านี้หลายโรงงานผลิตชิปต้องปิดตัวหรือลดกำลังการผลิตลงชั่วคราว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา ประกอบกับโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกสัญชาติญี่ปุ่นเกิดเหตุเพลิงไหม้เครื่องสำหรับผลิตชิป ทำให้กำลังการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลกหายไปพอสมควร ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (New Normal) การทำงานที่บ้าน การสื่อสารหรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้อุปสงค์ในการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Smartphone และเครื่องเล่นเกมส์ ได้อานิสงค์เพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ในปัจจุบันโรงงานผลิตชิปจะสามารถเริ่มการผลิตได้อย่างปกติอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอุปสงค์ และ 4) การขาดแคลนแรงงานกลุ่ม Unskilled labor เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงาน ทั้งนี้ปัญหาอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกเริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกที่ชัดเจนเนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงมากขึ้น อาทิ กำกับดูแลไม่ให้สายเรือและผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับเพิ่มค่าระวางและค่าบริการเสริม (Surcharge) 2) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาความแออัดและการจราจรติดขัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีต้นทุนและระยะเวลาในการปฏิบัติงานขนส่งเพิ่มขึ้นและทำให้การนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิตมีความล่าช้า 3) ขอให้ ธปท. ใช้มาตรการหรือเครื่องมือทางการเงินเพื่อกำหนดทิศทาง รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไว้ที่ 32 บาท/เหรียญสหรัฐฯ 4) เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรีที่สำคัญ อาทิ CPTPP, RCEP, Thai-EU, Thai – UK, Thai-Turkey เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคือสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และ 5) เนื่องจากแรงงานในระดับ Unskilled labor ขาดแคลนอยางหนักโดยเฉพาะในภาคการผลิต ขอรัฐบาลพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมโดยเร็ว แต่อาจต้องมีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มงวด ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรสนับสนุนต้นทุนค่าวัคซีน สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ต้องการนำเข้าเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad