นักวิจัย มจธ.พัฒนา นวัตกรรมสีเขียวตรวจพิสูจน์หมึกปากกาบนเอกสารแบบไม่ทำลายวัตถุพยาน และหาสารระเบิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

นักวิจัย มจธ.พัฒนา นวัตกรรมสีเขียวตรวจพิสูจน์หมึกปากกาบนเอกสารแบบไม่ทำลายวัตถุพยาน และหาสารระเบิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)


 95% ของความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงในคดีอาญาทั้งหมด คือ “การปลอมแปลงเอกสาร” *    โดยการตรวจโดยการเปรียบเทียบชนิดของหมึกและชนิดของเอกสาร  ที่เป็น 1 ใน 10 วิธีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสาร**  จะใช้ผู้ตรวจพิสูจน์จะอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงประเภทต่างๆ ด้วยตาเปล่าผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ (stereo microscope) หรือใช้เครื่องตรวจเอกสาร VSC (video spectral comparator หรือ VSC)  ที่อาศัยหลักการดูดกลืนแสงและการเปล่งแสงฟลูออเรสเซนต์ที่แตกต่างกันขององค์ประกอบในหมึกปากกาแต่ละชนิดในการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบชนิดของหมึกว่ามาจากปากกาชนิดเดียวกันหรือไม่  ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าจากปากกาคนละชนิดกันเฉพาะกรณีที่ “มีการเรืองแสงต่างกัน”เท่านั้น  (รูปที่ 1)


 รายงานสถิติคดีศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำปี2558 (สำนักงานแผนและยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม)

**  (1) การตรวจลายมือเขียนข้อความและลายมือชื่อ (2) การตรวจร่องรอยการแก้ไข ขูดลบ และลบล้างข้อความเดิม (3) การตรวจข้อความเดิมที่มีการป้ายทับด้วยหมึกหรือน้ำยาลบคำผิด (4) การตรวจหาการต่อเติมและเขียนแทรก (5) การตรวจร่องรอยอื่นๆ บนเอกสาร เช่น รอยกดบนกระดาษรองเขียน รอยฉีกขาด และรอยการถูกไฟไหม้ (6) การตรวจลำดับการเขียนข้อความก่อน-หลัง (7) การตรวจลักษณะตัวอักษรพิมพ์ดีดบนเอกสารและเครื่องพิมพ์จำนวนเงินบนเช็ค (8) การตรวจลักษณะเอกสารที่ผลิตขึ้นจากกระบวนการพิมพ์ต่างๆ (9)การตรวจรอยตราประทับบนเอกสาร และ (10) การตรวจโดยการเปรียบเทียบชนิดของหมึกและชนิดของเอกสาร (ที่มา กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)


 


อีกหนึ่งเทคนิคที่นักนิติวิทยาศาสตร์นำมาใช้ในการแก้ปัญหา หากหมึกปากกาในบริเวณต้องสงสัยเรืองแสงเหมือนกัน หรือไม่เรืองแสงเหมือนกัน คือ เทคนิครามานสเปกโทรสโกปี (Raman Spectroscopy – RS) ที่เป็นการวิเคราะห์หาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสสารและสนามไฟฟ้าแม่เหล็ก โดยใช้การเปรียบเทียบค่าพลังงานส่วนที่เหลือจากการดูดกลืนของพันธะทางเคมีในหมึกปากกาที่จะกระเจิงออกมาเป็นค่าเฉพาะตัวตามลักษณะการสั่นหรือบิดงอของพันธะนั้นๆ  ที่นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีหมึกปากกา ที่จะช่วยยืนยันถึงจุดที่มีการปลอมแปลง (หรือเพิ่มเติม) ด้วยหมึกปากกา และสามารถใช้เป็นหลักฐานในการช่วยพิสูจน์ “มีการปลอมแปลงเอกสาร” ได้

ข้อดีของวิธีการนี้คือ สามารถตรวจได้โดยไม่ทำลายวัตถุพยาน รวมถึงใช้ตรวจได้ทั้งสารประกอบในกลุ่มอินทรีย์และสารอนินทรีย์ รวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในระดับสูง ขณะที่วิธีการอื่น ๆ บางวิธีแม้จะแม่นยำแต่ตรวจได้กับสารบางกลุ่ม บางวิธีต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาสูง

แต่จุดอ่อนหนึ่งของเทคนิคนี้ก็คือ หากสารประกอบในตัวอย่างที่นำมาตรวจมีความเข้มข้นน้อยมากๆ นอกจากนั้นองค์ประกอบทางเคมีบางชนิดในหมึกปากกา อาจทำให้เกิดสัญญาณฟลูออเรสเซนต์เข้ามารบกวนสัญญาณขององค์ประกอบหลักที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ ส่งผลให้การตรวจวัดสัญญาณรามานเกิดปัญหาในการวัดค่าเชิงคุณภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว จะใช้เทคนิค การตรวจวัดโดยใช้เทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณรามาน (surface-enhanced Raman scattering หรือ SERS) ด้วยการนำพื้นผิวของอนุภาคนาโนโลหะเข้ามาช่วยในการขยายสัญญาณรามานและลดสัญญาณฟลูออเรสเซนต์  


แต่แม้ว่า SERS จะสามารถขยายสัญญาณรามานได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ หากเป็นชุดสารสำเร็จรูปจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานเพียง 2 เดือนหลังผลิต ซึ่งเมื่อรวมกับระยะเวลาในการสั่งซื้อแล้ว เท่ากับว่า “สารขยายสัญญาณ”  ที่สั่งซื้อมาในราคาค่อนข้างสูงนี้ จะมีอายุการใช้งานได้เพียง 1 เดือน


ด้วยเหตุนี้  ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (ASESS) กับงานวิจัยด้านการพิสูจน์หลักฐาน (Applied Science and Engineering for Social Solution Research Center: ASESSมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงพัฒนานวัตกรรม “Green colloidal SERS” สำหรับจำแนกหมึกปากกาในงานตรวจพิสูจน์เอกสารต้องสงสัย ที่มีราคาถูก สามารถผลิตขึ้นเองได้อย่างง่ายและรวดเร็ว โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีภายในประเทศไทย และมีอายุการใช้งานนานกว่า 6 เดือน โดยสามารถนำนวัตกรรม “Green colloidal SERS” ไปหยดลงบนหมึกปากกาบนวัตถุพยานประเภทเอกสาร ณ ตำแหน่งต้องสงสัยได้โดยตรง โดยไม่ทำละลายหมึก (ตัวอักษรที่อ่านได้ยังคงลักษณะเดิม) และไม่จำเป็นต้องทำลายสภาพเอกสารเพื่อสกัดหมึกออกมาตรวจวัด สามารถขยายสัญญาณรามานได้มากกว่า 10 เท่าของสัญญาณรบกวน ทำให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของหมึกปากกา สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจำแนกโมเลกุลองค์ประกอบ สีของหมึกปากกา และประเภทของตัวทำละลาย ซึ่งจะบ่งบอกถึงชนิดของหัวปากกา เช่น ปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม และปากกาโรลเลอร์บอล ได้ (รูปที่ 2)

      "การที่เราสามารถผลิตสารเพิ่มระดับสัญญาณ เพื่อการตรวจสารให้แสงในน้ำหมึกด้วยวิธี Raman Spectroscopy ได้เองนี้ จะทำให้เพิ่มศักยภาพในการตรวจพิสูจน์หลักฐานของหน่วยงานได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นสารที่ผลิตในประเทศ ทำให้ลดปัญหาเรื่องอายุการเก็บ อีกทั้งใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ในระดับสูง ซึ่งขณะนี้ได้รับทุนสนับสนุนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั้ง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเพื่อรองรับการตรวจพิสูจน์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืน” ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัย ASESS กล่าว

จากการพัฒนา “สารขยายสัญญาณ” สำหรับการตรวจสารประกอบสำคัญด้วยเครื่อง Raman จากโครงการวิจัยดังกล่าวแล้ว ศูนย์วิจัย ASESS ยังได้นำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดพัฒนาเป็น นวัตกรรมการพิสูจน์หลักฐานจากวัตถุระเบิดหรือสะเก็ดระเบิด” เพื่อค้นหาสารระเบิด ได้อีกด้วย


“การพิสูจน์พยานหลักฐานจำพวกสะเก็ดระเบิดจากที่เกิดเหตุ เพื่อระบุว่าเป็นสารระเบิดชนิดอะไร จะใช้การวิเคราะห์สารประกอบที่ใช้ทำระเบิด ถึงแม้จะถูกจุดชนวนไปแล้ว แต่สารเหล่านี้ก็ยังอาจหลงเหลืออยู่ในวัตถุพยาน ณ ที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะเศษซากของวัตถุระเบิด แม้ว่าเทคนิค 
Raman Spectroscopy จะมีจุดเด่นกว่าเทคนิคอื่น ที่สามารถใช้วิเคราะห์สารระเบิดทั้งประเภทอินทรีย์และอนินทรีย์ รวมถึงวิเคราะห์สารได้ ทั้งในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ แต่บางตัวอย่างมีปริมาณสารชนิดนั้นเจือปนอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก ยากที่ชี้วัดได้ด้วยเครื่อง Raman Spectroscopy” ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าว

 นั่นจึงเป็นที่มาของงานวิจัยการพัฒนา “สารขยายสัญญาณสำหรับการตรวจสอบชนิดของสารระเบิดจากวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ” ที่ทีมวิจัยของศูนย์วิจัย ASESS ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์วิจัย ASESS ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคนิคการตรวจสอบดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้สังกัดของศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั่วประเทศแล้วเช่นกั

ล่าสุด ผลงาน “นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียว สำหรับตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสาร” (Green colloidal SERS) ของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (ASESS)  ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2564   รวมถึงได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม การยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2565 การใช้ประโยชน์เชิงความมั่นคง จาก วช. 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad