เมื่อลูกขอไปม็อบ บทความของคุณหมอโอ๋ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เมื่อลูกขอไปม็อบ บทความของคุณหมอโอ๋

 


#เมื่อลูกขอไปม็อบ


วันนก่อนมีคนไข้วัยรุ่นชายอายุ 16 ปี เล่าให้ฟังเรื่องการไปม็อบ หมอถามว่าแล้วพ่อแม่ว่ายังไง เด็กตอบว่า 


พ่อบอกว่า “ศพมึงกูก็ไม่ไปรับ” 


สายตาแห่งความเจ็บปวดและน้ำตาที่เอ่อคลอนั้น ทำให้แอบสะเทือนใจอย่างบอกไม่ถูก 


ทุกวันนี้... วัยรุ่นคนนี้ก็ยังไปม็อบ แบบที่พ่อแม่ไม่ได้รับรู้

................................


เมื่อลูกขอไปม็อบ... มันคงเป็นเรื่องน่าหนักใจของพ่อแม่ โดยเฉพาะกับคนที่ความคิดและความเชื่อช่างแตกต่าง 


หมอมีคำแนะนำพ่อแม่ที่อยากแลกเปลี่ยนดังนี้นะคะ


1. กลับมาทำงานกับตัวเองก่อน ตอบตัวเองให้ได้ ว่าอะไรสำคัญกับชีวิต 


2. ถ้าคำตอบคือ “ลูก” หายใจเข้าออกให้ลึกๆและสงบตัวเองให้พร้อม “ฟัง”


3. อันดับแรก “ขอบคุณลูก” ที่เข้ามาขออนุญาตแม่ ขอบคุณที่เห็นความสำคัญของความเห็นพ่อแม่ และขอบคุณที่ไม่โกหกปกปิดกัน (ทั้งๆ ที่ลูกก็อาจจะทำมันได้)


4. อย่ารีบห้าม “ไม่ให้ไป” “ไปไม่ได้” สิ่งเหล่านี้หลายครั้ง “ห้ามลูกจริงๆ ไม่ได้” แต่กับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นคนสุดท้าย ที่ได้รับรู้ความเป็นไปในชีวิตลูก 


5. “ไม่รีบตัดสิน” เช่น ไปม้อบคือล้มเจ้า ไปม้อบเท่ากับถูกล้างสมอง ไปม้อบเท่ากับอกตัญญูแผ่นดิน การตัดสิน ทำให้ปิดกั้นทุกช่องทางแห่ง “ความเข้าใจ” 


6. ฟัง “ความรู้สึกและความต้องการ” ของลูก ลูกรู้สึกยังไง ต้องการอะไร ลูกให้คุณค่ากับอะไร การไปม้อบมีความหมายอย่างไร มันตอบสนองความต้องการอะไร ฟังแบบ ไม่ตัดสิน ไม่แทรกถาม ไม่สั่งสอน ไม่รีบสรุปความ และไม่แย่งซีน (เช่น โอ๊ย สมัยแม่ก็เคย.. 😂)


7. ถ้าฟังจบแล้ว มีอะไรสงสัย ให้ “ตั้งคำถาม” แทนการสอน “ลูกคิดว่าวัตถุประสงค์ของม็อบคืออะไร” “ แล้วลูกคิดอย่างไร ที่.... “ ชวนลูกมองไปให้ไกลถึงผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจ


8. บอกความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของเรา “แม่เป็นห่วงหนูมาก” “แม่อยากให้ลูกปลอดภัย” “แม่รักลูก” บอกโดยใช้ “I message”


9. หลีกเลี่ยงการพูดสิ่งที่จริงๆไม่ได้รู้สึก หรือต้องการ “ถ้าไปก็ไม่ต้องกลับบ้าน” “ตัดพ่อตัดลูกกันไปเลย” คำพูดเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้าง “ความปลอดภัยในชีวิตลูก” ได้จริงๆ


10. ชวนลูกคิด ว่าความต้องการของพ่อแม่ เช่น อยากให้ลูกปลอดภัย ไม่อยากให้ลูกก้าวร้าวกับคนที่พ่อแม่เคารพ สิ่งเหล่านี้ ลูกจะช่วยให้มันถูกตอบสนองได้อย่างไร 


11. สร้างข้อตกลง หาทางออกร่วมกัน ที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ไปได้ไหม? จะไปบ่อยแค่ไหน? แม่จะติดต่อยังไงได้บ้าง? ทำยังไงให้รู้ว่าปลอดภัย? จะเอาตัวรอดยังไงในภาวะคับขัน? ถ้าถูกจับจะทำอย่างไร? ฯลฯ 


12. ไม่มีใครควรได้อะไรไปทุกอย่าง และไม่มีใครควรต้องเสียความต้องการไปทั้งหมด


13. “ความสัมพันธ์ที่ดี” คือ สิ่งที่จะทำให้ลูกรับฟังและทำให้เกิดการต่อรอง


14. พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่เราสามารถเห็นต่างได้ แสดงความรู้สึกและความต้องการได้ โดยไม่ทำร้ายหรือละเมิดสิทธิกัน บ้านควรเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” 


15. พูด เฉพาะเมื่อเห็นว่าลูกพร้อมจะฟัง 


16. อย่าตั้งเป้าที่จะทำให้ลูกเชื่อหรือศรัทธาในสิ่งเดียวกัน “ความรักความศรัทธาเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้” เราแต่ละคนมีประสบการณ์และให้คุณค่าในเรื่องที่แตกต่าง พูดให้ลูกฟัง ด้วยความคาดหวังที่เหมาะสม 


17. ถ้าห้ามไม่ฟัง และเราก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ “ไปกับลูก” ไป เพื่อแน่ใจว่ามีอะไร เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ลูกปลอดภัย (เอาที่อุดหูไปได้ ถ้าไม่อยากได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ)


18. บอกลูกได้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นปัญหา การใช้คำหยาบคาย การบูลลี่ การอาฆาตมาดร้าย การเหยียบย่ำสิ่งที่คนอื่นศรัทธา อาจไม่นำมาซึ่งความเข้าใจของคนที่เห็นต่าง


19. เน้นย้ำลูกว่าประชาธิปไตย คือการอยู่ร่วมได้แม้คิดไม่เหมือนกัน


20. สอนลูกว่า ไม่มีใครที่มีแต่ความไม่ดี และไม่มีใครที่เลวร้ายไปทั้งหมด คนทุกคนควรได้รับความเคารพในความเป็นมนุษย์ “จงอ่อนโยนต่อบุคคล แต่หนักแน่นในหลักการ” 


สุดท้ายอยากบอกว่า 


ในความเป็นจริง เราล่ามโซ่ลูกไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะดึงรั้งลูกไว้ได้ คือ “สายสัมพันธ์” 


อย่าทำอะไรที่ “ทำลายความสัมพันธ์”


และอย่าให้ความเชื่อใดๆ มาทำให้คุณต้องทำลาย สิ่งที่เรียกว่า “ครอบครัว”


เพราะถ้าถึงวันนั้น มันอาจไม่มีอะไร มาทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป... ได้จริงๆ 


#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

ผู้เชื่อว่าเราต่างเติบโตขึ้น บนพื้นที่ที่ฟังความต้องการของกันและกัน 

#การเมืองเป็นเรื่องที่พูดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad