รักสุขภาพ ปรุงสุกก่อนทาน ต้องลด ละ เลิก อาหารสุกๆดิบๆ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

รักสุขภาพ ปรุงสุกก่อนทาน ต้องลด ละ เลิก อาหารสุกๆดิบๆ


ผศ.ดร.ศศิธร ใบผ่อง
หัวหน้าศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะ ผู้บริโภคซื้ออาหารจากแหล่งจำหน่ายมีมาตรฐาน หลีกเลี่ยงกินของดิบ หรือสุกๆดิบๆ พร้อมย้ำ การรับประทานอาหารปรุงสุกมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เนื่องจากความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆที่อาจก่ออันตรายต่อร่างกายได้ พร้อมแนะนำผู้บริโภคปฏิบัติตาม 5 หลักการสู่อาหารปลอดภัย

 

ผศ.ดร.ศศิธร ใบผ่อง กล่าวว่า อาหารคือ 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย หากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปไม่ปลอดภัย จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค ปัจจุบัน การเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะนับเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 


ที่ผ่านมามีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก หรือสุกๆดิบๆ ส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส หรือไข้หูดับ ซึ่งมักจะเห็นข่าวลักษณะนี้ทุกปี อีกเมนูสุดฮิตคือกุ้งแช่น้ำปลา ซึ่งบางร้านอาหารใช้กุ้งน้ำจืดจึงมีความเสี่ยงทำให้เกิดพยาธิปอดหนูได้ และยังมีโรคอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอหิวาตกโรค โรคบิด อาหารเป็นพิษ โรคตับอักเสบ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสต่างๆที่อาจปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสด ซึ่งเราสามารถตัดวงจรการเกิดโรคได้ด้วยการเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดวัตถุดิบและปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง แต่โดยส่วนใหญ่หลายคนมักละเลยในประเด็นนี้ จึงทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต

 


ผศ.ดร.ศศิธร
แนะแนวทางที่ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติตามหลักการสู่อาหารปลอดภัย 5 ประการ (The Five Keys to Safer Food) ขององค์การอนามัยโลก (The World Health Organization : WHO) เพื่อสุขอนามัยที่ดี มีรายละเอียด ดังนี้ 1) การรักษาความสะอาด ล้างมือสม่ำเสมอ 2) แยกอาหารที่ปรุงสุกกับอาหารสด เช่น แยกเนื้อสดจากอาหารประเภทอื่น แยกอุปกรณ์ภาชนะในการประกอบอาหาร ไม่เก็บอาหารปรุงสุกและอาหารสดรวมกัน 3) ปรุงอาหารให้สุกในอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่และอาหารทะเล เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคต่างๆ 4) เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น อาหารที่ปรุงแล้วและอาหารที่เน่าเสียเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส อุ่นอาหารทุกครั้งก่อนรับประทาน ไม่เก็บอาหารไว้นานเกินไป และไม่ควรละลายอาหารแช่แข็งในอุณหภูมิห้อง 5) ใช้น้ำและวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดเชื้อในการปรุงอาหาร รวมถึงล้างผักและผลไม้เพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากสารพิษ

 


อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคควรตระหนักว่าความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องเริ่มจากตัวเรา ต้องใส่ใจเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนซื้อ ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ ผู้ขาย ต้องมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน การผลิตซึ่งต้องเป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad