วิศวะมหิดล คิดค้น “จดจำ” อุปกรณ์จดบันทึกเพื่อน้องและผู้พิการทางสายตา - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566

วิศวะมหิดล คิดค้น “จดจำ” อุปกรณ์จดบันทึกเพื่อน้องและผู้พิการทางสายตา

 




โลกยุคดิจิทัลก้าวไปไกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ออกแบบพัฒนา  ‘จดจำ อุปกรณ์จดบันทึกสำหรับผู้พิการทางสายตาแบบต้นทุนต่ำ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแก่เยาวชนและผู้พิการทางสายตาที่มีรายได้น้อยในการเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และสร้างอนาคตที่ดี ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เผยโครงการนำร่องได้ส่งมอบล็อตแรก 20 เครื่อง ให้แก่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ โดยมีภาคเอกชนบริจาคทุนสนับสนุน


รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์
 คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตารวมกว่า 150,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเพียง 2,000 คน หรือเฉลี่ยเพียง 200 คนต่อปีเท่านั้น ที่มีโอกาสได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งเด็กตาบอดเหล่านี้จะต้องพบอุปสรรคในการเรียนหนังสือ เช่น การจดบันทึกในห้องเรียน โดยในต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยี Braille Note-Taker อุปกรณ์ช่วยการจดบันทึก ซึ่งมีราคานำเข้าที่สูงมาก ประมาณ 50,000 - 200,000 บาท นอกจากนี้ ในประเทศไทยเองมีจำนวนผู้ใช้งานน้อย จึงไม่ดึงดูดให้เกิดงานวิจัยหรือพัฒนาเทคโนโลยีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงปัญหา จึงออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ จดจำ’ ( Low-Cost Braille Note-Taker) แบบต้นทุนต่ำราคาหลักพัน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนและผู้พิการทางสายตาในการจดบันทึก มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตและโอกาสในการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้ต่อไป นำพาสู่สังคมไทยที่เราทุกคนก้าวเดินไปด้วยกัน


ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์
 หัวหน้าโครงการและอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาว่า การวิจัยและพัฒนา จดจำ’ อุปกรณ์จดบันทึก เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตานี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2555 และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 8 เมื่อปี 2555 จัดโดยมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ทั้งนี้ในช่วงแรกของการพัฒนาจดจำ’ นั้นเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้พิการทางสายตายังมีข้อจำกัด ทำให้การใช้งาน เครื่องจดจำ ยังไม่สามารถกระจายสู่สังคมวงกว้างได้ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและมีราคาไม่แพง อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นที่รองรับสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งนอกจากจะใช้โทรศัพท์เพื่อพูดคุยสนทนาแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารผ่านข้อความตัวหนังสือได้ หรือโทรศัพท์สามารถอ่านข้อความให้ผู้พิการทางสายตาได้รับรู้ ด้วยเทคโนโลยีการสังเคราะห์เสียงพูดจากตัวหนังสือ (Text-to-Speech Synthesis) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานได้ลำบาก เช่น การพิมพ์ข้อความ ซึ่งต้องใช้การสัมผัสหน้าจอเคลื่อนที่หาทีละตัวอักษร ทำให้กินเวลานาน และไม่เหมาะกับการนำมาใช้บันทึก รวมถึงเทคโนโลยีการเปลี่ยนเสียงเป็นตัวอักษร (Speech to Text) ก็ยังคงมีข้อผิดพลาดและห้ามมีเสียงรอบข้างรบกวน


ทีมวิจัยวิศวะมหิดล จึงได้ออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ จดจำ’ ซึ่งเป็น Braille Note-Taker แบบต้นทุนต่ำสำหรับคนไทย เพื่อตอบโจทย์การจดบันทึกของผู้พิการทางสายตาแบบครบวงจร โดยเครื่อง จดจำ’ มีลักษณะเป็น แป้นพิมพ์ที่มีอักษรเบรลล์ (Braille Keyboardข้อดี คือ มีหน่วยความจำในตัว สามารถจดบันทึก และส่งข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์ได้ ในรูปแบบไฟล์ตัวหนังสือ (Text File) รวมถึงสามารถใช้ควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ สำหรับประโยชน์ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาจดบันทึกได้สะดวก และสามารถใช้งานจากโทรศัพท์ของตนเองที่มีอยู่แล้วได้มากขึ้น ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดและพกพาง่าย (ขนาดเท่าโทรศัพท์มือถือ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิการในวัยเรียน จะสามารถเรียนรู้วิชาทางด้าน STEM ได้สะดวก พึ่งพาตนเองในการทำการบ้านได้เอง และช่วยลดภาระครูผู้สอนอีกด้วย


นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนตาบอดทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์นี้ได้ โดยเปิดให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนชีวิตและอนาคตที่ดีแก่ผู้พิการทางสายตา ผ่านทางโครงการ จดจำทั่วไทย’ เพื่อผู้พิการทางสายตา โดยตั้งเป้าหมายจะส่งมอบจำนวน 200 คน/ปี ซึ่งขณะนี้ได้รับทุนบริจาคสนับสนุนรายแรกเพื่อผลิต เครื่องจดจำ จำนวน 40 เครื่อง จาก บริษัท เอสแอนต์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา โดยได้ส่งมอบล็อตแรกให้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ จำนวน 20 เครื่อง สำหรับเด็กนักเรียนและครู นับเป็นโรงเรียนแรกที่ได้ใช้อุปกรณ์ จดจำ’  และจะทยอยส่งมอบให้แก่โรงเรียนอื่นๆต่อไป


องค์กรและผู้สนใจที่จะแบ่งปันร่วมสานอนาคตให้น้องในโลกมืด ในรูปของการสนับสนุนสั่งผลิต เครื่องจดจำ’ เพื่อส่งมอบให้น้องผู้พิการทางสายตา ติดต่อได้ที่ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02 849 635902 849 6111

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad