ส.อ.ท. ให้คะแนนนโยบายรัฐบาลใหม่ “ปานกลาง” แนะเร่งลดราคาพลังงาน แก้กฎหมายไม่จำเป็น ส่งเสริมพลังงานสะอาด - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

ส.อ.ท. ให้คะแนนนโยบายรัฐบาลใหม่ “ปานกลาง” แนะเร่งลดราคาพลังงาน แก้กฎหมายไม่จำเป็น ส่งเสริมพลังงานสะอาด

 


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 33 ในเดือนกันยายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน” 
โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า จากการแถลงนโยบายรัฐบาลใหม่ของ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมานั้น มีนโยบายหลายเรื่องที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หากภาครัฐสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากผลการสำรวจคณะกรรมการ ส.อ.ท. ส่วนใหญ่คิดว่านโยบายของรัฐใหม่สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้
ในระดับปานกลาง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลใหม่ มีหลายเรื่องที่ ส.อ.ท. ให้ความสนใจและมองว่าจะสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้ อาทิ ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ เป็นลำดับแรก ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้ เป็นลำดับแรก ส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร และในส่วนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด เป็นลำดับแรก ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างรากฐานที่ดีในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงนโยบายที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญในการดูแลแรงงาน พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถของแรงงาน (Pay by Skills) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามความสามารถ และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย


จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 290 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก
45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 33 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้
1.  นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ ที่ภาคอุตสาหกรรมคิดว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน    85.9%  
                และปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ  
อันดับที่ 2 : แก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน     57.6%
อันดับที่ 3 : ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว อาทิ Free Visa    52.1%
อันดับที่ 4 : นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet      27.2%

2.  นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่ภาคอุตสาหกรรมคิดว่ามีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Multiple choices)  
อันดับที่ 1 : ยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาส       72.8%
                ให้กับประชาชนในการสร้างรายได้      
อันดับที่ 2 : การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ๆ        53.4%
                และเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรี (FTA)
อันดับที่ 3 : พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง 51.0%
                และอุตสาหกรรมสีเขียว
อันดับที่ 4 : ปรับปรุงกระบวนการ พิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน    46.6%
                ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาค  
                ตะวันออก (EEC)

3.  นโยบายส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลใหม่ ที่ภาคอุตสาหกรรมท่านคิดว่าจะช่วยยกระดับภาคการเกษตร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : วิจัย พัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ 65.9%
                ให้สูงขึ้น รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น
อันดับที่ 2 : บูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ 61.7%
อันดับที่ 3 : สร้างรายได้ในภาคการเกษตรโดยใช้หลักการตลาดนำนวัตกรรมเสริม       59.3%
อันดับที่ 4 : สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม  55.2%
               ทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ

4.  นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลใหม่ ที่ภาคอุตสาหกรรมคิดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน           67.2%
อันดับที่ 2 : วางแผนรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต     60.0%
อันดับที่ 3 : ส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ             55.2%
                แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมและมลภาวะ
อันดับที่ 4 : แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ                       54.1%

5.  รัฐบาลใหม่ควรดำเนินนโยบายด้านการดูแลแรงงานอย่างไร (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ผลักดันให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ 66.9%
                เพื่อให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามความสามารถ (Pay by Skills)
อันดับที่ 2 : สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาทักษะ UpSkill / Reskill 65.2%
                ให้รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่
อันดับที่ 3 : ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี รายจังหวัด  62.1%
                ในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
อันดับที่ 4 : พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data ของแรงงานทั้งระบบเพื่อใช้ใน 52.8%
                การวางแผนพัฒนากำลังคน และสร้างความสมดุลด้านกำลังแรงงานในแต่ละ Sector

6.  นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในระดับใด
อันดับที่ 1 : ปานกลาง 64.1%
อันดับที่ 2 : น้อย  22.1%  
อันดับที่ 3 : มาก  13.8%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad