รายงานดัชนีความพร้อมรับมือโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - เผยไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้านการวางแผนรับมือโรคมะเร็ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

รายงานดัชนีความพร้อมรับมือโรคมะเร็งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - เผยไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้านการวางแผนรับมือโรคมะเร็

ประเทศไทย, กรกฎาคม 2563 – รายงานเรื่อง ความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล หรือ Cancer preparedness in Asia PacificProgress towards universal cancer control จัดทำโดย The Economist Intelligence Unit และได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท โรช จำกัด ได้เผยผลวิเคราะห์ความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการรับมือกับความท้าทายเพื่อดูแลประชาชนและรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้มีมาตรการรองรับและควบคุมฉบับสากล

รายงานเรื่อง ความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล ได้วิเคราะห์ความพร้อมของ 10 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก คือ ประเทศไทย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม โดยเป็นการสำรวจ เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งและระบบสาธารณสุขจากระดับภูมิภาค ซึ่งเจาะประเด็นในสามด้านสำคัญ คือ นโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา และระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยผลการสำรวจเผยว่า ประเทศออสเตรเลียได้คะแนนรวมสูงสุด ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ จากทั้งหมดสิบอันดับ
ผลสำรวจยังระบุลำดับคะแนนที่น่าสนใจจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper-middle income) อย่างประเทศไทยและมาเลเซีย ที่ได้คะแนนด้านมาตรการในวางแผนรับมือกับโรคมะเร็งได้ดีมากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามแผนการที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพยังเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศต้องหาทางรับมือ

ดร. ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ประเทศไทยได้คะแนนสูงอยู่ในอันดับสี่ ของการเป็นประเทศที่มีนโยบายและแผนการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคมะเร็งดีที่สุด เมื่อมองลึกลงไปถึงที่มาของคะแนน ไทยยังได้รับคะแนนสูงที่สุดจากการเป็นประเทศที่สามารถดำเนินการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น”

ปัจจุบัน โรคมะเร็ง ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตของผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ภูมิภาคนี้จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์[1] ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายการรับมือและสถาบันวิจัยโรคมะเร็งเกิดขึ้นมากมาย แต่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นและการตรวจพบโรคมะเร็งเมื่อโรคมีการลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ยังเป็นปัญหาสำคัญของเกือบทุกประเทศในภูมิภาค โดยสามอันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2561 คือ มะเร็งปอด ตามมาด้วย มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม


ดร. ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข

ผลสำรวจของประเทศไทย ประจำปี 63
·         ด้านนโยบายและการวางแผน
ประเทศไทยมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติที่เข้มแข็ง ทั้งยังเป็นประเทศที่อยู่อันดับหนึ่งด้านงานวิจัยเรื่องโรคมะเร็งจากการที่มีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายพื้นที่ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีขั้นตอนการติดตามและประเมินผลของการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างทะเบียนมะเร็งระดับประชากร ซึ่งครอบคลุมสถิติที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการวางแผนการคัดกรองและรักษาในระยะยาวต่อไป

·         ด้านการให้บริการและการรักษา

“ประเทศไทยมียารักษาโรคมะเร็งส่วนมากถูกบรรจุเข้าไปในระบบ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงยาและเบิกค่ายาตามสิทธิที่พึงมีได้ผ่านระบบสาธารณสุข” ดร. ศุลีพร กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการรักษาให้มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคะแนนด้านนี้อยู่ในลำดับที่ 10 ร่วมกับ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเน้นด้านการทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงการติดตามผลระยะยาว การพักฟื้น และการทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพให้แก่เครื่องมือทางรังสีวิทยา และเพิ่มจำนวนรังสีแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา และบุคลากรสุขภาพด้านอื่น ๆ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ ทำให้บางครั้งผู้ป่วยพบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งในรายงานได้แนะนำว่า ประเทศไทยควรมีการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น เช่น การตรวจแมมโมแกรม และการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ตั้งแต่ในระดับสถานีอนามัย และสร้างความตระหนักด้านการคัดกรองและวิธีการรักษาให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

·         ด้านระบบสุขภาพและการสนับสนุนจากรัฐบาล
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับคำชม และเป็นแบบอย่างให้นานาประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในแง่ของการลดค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก ทั้งยังเพิ่มขั้นตอนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและการบำบัดทดแทนไต ทั้งยังลดอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากอาการเจ็บป่วย

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่กลับมีมาตรการการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง แม้มีทรัพยากรจำกัด และมีคุณภาพเทียบเท่ากับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้สูง

นายฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท โรช ไทยแลนด์ พม่า กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการรับมือโรคมะเร็ง คือ การสร้างระบบทะเบียนมะเร็งระดับประชากร การกำหนดงบประมาณและค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อลดช่องว่างให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยปัญหาที่ได้ถูกพูดถึงในรายงานนี้ จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ที่ส่งผลให้งบประมาณด้านสาธารณสุขและการบริการด้านการแพทย์มีค่อนข้างจำกัด”

“โรชมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทย และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในการมุ่งพัฒนานโยบาย รวมไปถึงโครงการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน” นายฟาริด กล่าวปิดท้าย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน ความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคมะเร็ง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: การขับเคลื่อนสู่มาตรการควบคุมโรคมะเร็งฉบับสากล ได้ที่ https://worldcancerinitiative.economist.com/cancer-preparedness-asia-pacific    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad