กรมป่าไม้ ผนึกพลัง สมอ. ส.อ.ท. ผลักดันอุตสาหกรรมไม้ไทยสู่สากล - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กรมป่าไม้ ผนึกพลัง สมอ. ส.อ.ท. ผลักดันอุตสาหกรรมไม้ไทยสู่สากล

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563 กรมป่าไม้ ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ผนึกพลังเพื่อขับเคลื่อน “การส่งเสริมมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจตามบริบทไทยสู่ระดับสากล” ดันสวนป่าเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานชาติ เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เสริมความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมไม้ไทย ด้วยมาตรฐานชาติเทียบเท่าสากล ด้วยการจัดการอย่างยั่งยืน โดยมี นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายวันชัย พนมชัยเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม MOU ขับเคลื่อนเดินหน้าผนวกบริบทสวนป่า ป่าชุมชน และไม้นอกเขตป่า ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน (มอก. 14061) ซึ่งเป็นมาตรฐานชาติที่ได้รับการเทียบเคียงมาตรฐานสากล PEFC ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมกฤส ชั้น 2 กรมป่าไม้

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้ได้ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมให้ปลูกไม้เศรษฐกิจ ทั้งในรูปแบบของสวนป่าขนาดใหญ่ สวนป่าขนาดย่อมสำหรับเกษตรกรรายย่อย ไม้มีค่าตามหัวไร่ปลายนา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตลาดเพื่อรองรับไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ กรมป่าไม้เล็งเห็นว่าในการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการด้านการค้า เพื่อรองรับไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้มาจากสวนป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด และสามารถค้าขายได้ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งกรมป่าไม้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการประสานงานและทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการป่าไม้ และสร้างธรรมาภิบาลในการจัดการป่า ดังนั้น การจัดทำบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เป็นการเน้นย้ำความร่วมมือของทั้งสามหน่วยงานให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในการส่งเสริมมาตรฐานการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจ โดยกรมป่าไม้ เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมการปลูกสวนป่า    ไม้เศรษฐกิจตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีไม้ผิดกฎหมายเข้ามาปะปนในห่วงโซ่อุปทานการค้าไม้ เพื่อให้ตลาดต่างประเทศรู้จักและเชื่อมั่น ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่มาประเทศไทย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรม กำหนดให้การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้ปัจจุบันมีการนำเรื่องการรับรองแหล่งที่มาของไม้มาเป็นเงื่อนไขในทางการค้ามากขึ้น การสั่งซื้อสินค้าต้องแหล่งที่มาของไม้จากพื้นที่ที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน ถูกต้องตามกฎหมาย และได้การรับรองเท่านั้น สมอ.ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐาน และตรวจสอบรับรอง โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลและส่งเสริมในแต่ละด้าน สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ให้มีความโปร่งใส เป็นไปตามกลไกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ด้าน นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ขับเคลื่อนงานสำนักงานรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC) กล่าวว่า ในนามภาคเอกชน เราอาจถูกมองว่าเป็นผู้มุ่งเน้นเพียงการทำธุรกิจเท่านั้น ซึ่งไม่จริงเลย สภาอุตสาหกรรม เรามีการดำเนินงานขับเคลื่อนยกระดับภาคอุตสาหกรรม ควบคู่การรักษาสมดุลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เรามีหน่วยงานภายในหลายหน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ดำเนินอุตสาหกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สนับสนุนสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มีการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ช่วยเสริมทักษะการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนควบคู่ธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น และในส่วนของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม้ นอกจากเรามีกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับไม้ 7 กลุ่ม (กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น กลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง) ผมยังได้ดูแลในส่วนของสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย (Thailand Forest Certification Council: TFCC) ภายใต้สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตทางการเกษตรต่างๆ ให้เข้าถึงอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยด้านงานไม้สภาอุตสาหกรรม ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน “ปลูกไม้มีค่า เพิ่มป่าชุมชน” ให้กับท่านนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยจะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำการส่งออกไม้ในอนาคต การส่งเสริมการปลูกป่านี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างปอดให้ประเทศแล้ว ยังสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ให้กับคนในพื้นที่ และสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร จะเข้าไปช่วยเชื่อมโยงพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากไม้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ของสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นการขับเคลื่อนทั้ง value chain สร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไม้ภายในประเทศ ไปสู่สากลได้

นอกจากนี้ นายศักดิ์ชัยได้กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของมาตรฐานชาติการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน มอก.14061 เราเรียกว่าทำ 1 ได้ถึง 2  นั่นคือมาตรฐานชาตินี้สามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล PEFC จากทางยุโรป ได้ด้วย เป็นส่วนช่วยขยายโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไม้ ลดข้อกีดกันทางการค้า สามารถขยายตลาดเพื่อการส่งออก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ผมเชื่อว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในวันนี้ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภาคป่าไม้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายศักดิ์ชัย กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad