ครั้งแรกของไทย...ผลงานจัดสวน ชื่อ The Calm of Bangkok คว้ารางวัลระดับโลกในงาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 ( RHS Chelsea Flower Show) ที่ลอนดอน - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

ครั้งแรกของไทย...ผลงานจัดสวน ชื่อ The Calm of Bangkok คว้ารางวัลระดับโลกในงาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 ( RHS Chelsea Flower Show) ที่ลอนดอน

 


เมื่อเอ่ยถึงมหกรรมแสดงดอกไม้และจัดสวนแล้ว ไม่มีงานใดจะยิ่งใหญ่เท่างาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์ 2021 (RHS Chelsea Flower Show) มหกรรมแสดงดอกไม้และจัดสวนที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก ในย่านเชลซี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งคนอังกฤษและนานาประเทศปักหมุดในปฏิทินที่ต้องมาเช็คอิน มีผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 166,500 คน จัดแสดงในวันที่ 21 - 26 กันยายน 2564 ผู้ชมเฝ้ารับเสด็จเจ้าฟ้าหญิงแอนน์และสมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษซึ่งมาร่วมงาน ล่าสุดสองหนุ่มสาวสถาปนิกไทยคนรุ่นใหม่ คุณธวัชชัย ศักดิกุล และ คุณพลอยทับทิม สุขแสง สร้างความฮือฮาและนำชื่อเสียงสู่ประเทศไทยโดยคว้ารางวัล Silver Gilt ด้วยผลงานสวนบ้านในเมือง ชื่อว่า The Calm of Bangkok หรือ ความสงบงามของกรุงเทพฯ” ที่นำเสนอแง่มุมความวุ่นวายของกรุงเทพแต่แฝงด้วยความสงบงาม เรียบง่าย นับเป็นครั้งแรกของคนไทยบนเวทีระดับโลกท่ามกลางนักจัดสวนจากนานาประเทศ

          


  งาน อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์   เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความสุนทรีย์ในศิลปะการจัดสวนของอังกฤษทีมีประวัติมายาวนานกว่า 159 ปี จัดโดย สมาคมพฤกษชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์แห่งราชวงศ์อังกฤษ (Royal Horticultural Society : RHS) มีเว้นว่างการจัดไป 3 ครั้ง คือ ช่วงสงครามโลก 2 ครั้ง และปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19  สำหรับธีมงานปีนี้คือ ยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Well-Being) ด้วยสวนและพันธุ์พฤกษชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและความงดงามแก่สังคม ย้อนประวัติการจัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1862 ในชื่อของ RHS Great Spring Show ที่แขวงเคนซิงตัน ประเทศอังกฤษ จวบจนกระทั่งปี ค.ศ.1888 ได้ย้ายสถานที่จัดงานมายังย่านถนนฟลีต ใจกลางกรุงลอนดอน ต่อมาในปี ค.ศ.1913 ก็ย้ายสถานที่จัดอีกครั้งมายังบริเวณโรงพยาบาลรอยัลในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่แขวงเชลซี กรุงลอนดอน เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกในชื่อของ อาร์เอชเอส เชลซี ฟลาวเวอร์ โชว์  

             


สำหรับงานปีนี้มี 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.การประกวดสวน ซึ่งมี 6 ประเภท คือ Artisan Garden สวนขนาดเล็ก, Balcony Garden  สวนระเบียง, Container Garden สวนกระถาง, Feature Garden สวนตกแต่ง, Sanctuary Garden สวนพักผ่อนขนาดกลาง และ Show Garden สวนโชว์ขนาดใหญ่ ส่วนที่ 2.แสดงการจัดดอกไม้ และ ส่วนที่ 3.ผลิตภัณฑ์จากสวน      

           


 คุณธวัชชัย ศักดิกุล (บอย) สถาปนิกนักจัดสวนคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ ทีมกิ่ง ก้าน ใบ จากประเทศไทยซึ่งคว้ารางวัล Silver Gilt  กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานการจัดสวนของคนไทยได้มาปักธงบนเวทีระดับโลกได้สำเร็จ เราฝ่าด่านการประกวด สวนพักผ่อนบ้านในเมือง (Sanctuary Garden) ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า The Calm of Bangkok หรือ ความสงบงามของกรุงเทพฯ ซึ่งแนวคิดคอนเซ็ปต์ มาจากการที่เราอยากให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกรุงเทพฯ ในอีกมุมหนึ่งที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น คนส่วนใหญ่จะมองกรุงเทพเป็นเมืองที่แสนจะวุ่นวายด้วยกิจกรรมความเคลื่อนไหว ผู้คนจอแจ ร้านค้า สตรีทฟู้ดส์ การจราจรที่คับคั่ง แม้ความประทับใจแรกของผู้มาเยือน อาจจะเป็นเส้นสายของตึกสูงๆ ต่ำๆ ไม่เป็นระเบียบและสีสันที่ชวนตื่นตาตื่นใจ แต่อีกด้านหนึ่งของกรุงเทพฯ มีความน่าอยู่ มุมเรียบง่ายและผ่อนคลายซ่อนอยู่ แฝงไว้ด้วยความงดงามทางวัฒนธรรม ให้สัมผัสได้ถึงสุนทรียะของความสุขสงบ จึงได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านการออกแบบสวนในสไตล์มินิมอล โมเดิร์น (Minimal Modern) ซึ่งเป็นสไตล์การจัดสวนที่ลดทอนรายละเอียด เน้นสัดส่วนและองค์ประกอบที่เรียบง่ายแต่คมชัด ผสมผสานวัฒนธรรมไทยเข้ากับดีไซน์ทันสมัย เน้นความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างมั่นคง ใช้ได้ยาวนาน และดูแลรักษาง่าย มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้ที่แสวงหามุมสงบท่ามกลางความวุ่นวาย

            


คุณพลอยทับทิม สุขแสง (พลอย) สถาปนิกผู้ร่วมออกแบบในทีมกิ่ง ก้าน ใบ จากประเทศไทย เผยจุดเด่นของการจัดสวนที่ชนะใจคณะกรรมการในประเทศอังกฤษ ว่า ผลงานสวน The Calm of Bangkok เป็นสวนของบ้านในเมืองขนาดกลาง มีขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร เราเตรียมต้นไม้ไว้กว่า 1,200 ต้น เมื่อมองจากด้านหน้าจะเป็นต้นไม้และดอกไม้หลากพันธุ์ หลายเฉดสีและรูปทรงใบ จัดเรียงผสมผสานซ้อนทับ มีวัสดุแท่งโลหะ หรือ Pipe Sculpture สูงๆต่ำๆ แทรกอยู่ด้วย เปรียบเสมือนความไม่เป็นระเบียบและความยุ่งเหยิงของกรุงเทพฯ ถัดมาเป็นทางเดินที่ออกแบบด้วยแผ่นหินแกรนิตเซาะร่องตามยาว นำสายตาเข้ามาสู่ Shelter พื้นที่ศาลาพักผ่อนด้านในสุดที่เป็นตัวแทนของความสุข ความมั่นคงและความสงบที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย โดยระหว่างทางเดินเข้ามานั้นจะได้ซึมซับกับบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา รวมถึงพันธุ์ไม้ล้อมรอบ โครงสร้างของ Shelter เป็นไม้โทนสีเย็น เสาสูงเปิดโล่งรับลม รอยต่อเสาใช้ประกับเหล็ก ยกพื้นจากระดับดินทำให้ดูมีมิติ ส่วนผนังหลังคากรุด้วยผ้าซีทรู ให้ความรู้สึกโปร่งเบา ไม่อึดอัด แขวนเปลซึ่งถักทอด้วยเชือกธรรมชาติจากภูมิปัญญาไทยออกมาเป็นลวดลายและโทนสีโมเดิร์นด้วยฝีมือของคุณยายฉลวย สังขรัตน์ วัย 95 ปี ชุมชนหัตถกรรม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการผสมผสานความเป็นไทยและนำเสนอในแบบโมเดิร์นได้เป็นอย่างดี ข้างเปลวางโต๊ะไม้มะม่วง ผนังบางส่วนขึงด้วยเชือกถักล้อรับกัน ส่วนด้านหลังจะเป็นกำแพงเขียวของต้นไม้ให้อากาศบริสุทธิ์

          


  การจัดวางมุมพักผ่อนหันหน้าออกสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ธรรมชาติจะสร้างแสงและทอดเงาเป็นลวดลายจากโครงสร้างและพันธุ์ไม้ เปลี่ยนไปตามห้วงเวลายิ่งทำให้ดูแปลกตาสวยงาม แดดจะไม่ส่องตาเมื่อนอนพักผ่อน ไม่ว่าจะหันหน้าไปทิศไหนก็ตาม นอกจากนี้ เราได้ใส่ความเคลื่อนไหวจากบ่อน้ำกลมขนาดเล็ก ปูพื้นด้วยกรวด และนำท่อ Pipe Sculpture มาวางพาดเป็นน้ำตก เสียงน้ำไหลรินให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สื่อถึงความเย็นฉ่ำและความสุขสงบ Cool & Calm”

           คุณธวัชชัย ศักดิกุล (บอย) สรุปท้ายให้ข้อคิดเห็นถึงคุณค่าของสวนบ้านในเมืองในภาวะโควิด-19 ว่า โลกยุคดิจิทัลที่รีบเร่งเคร่งเครียด สวนของบ้านในเมืองเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตคนเมืองในวิถีใหม่ Next Normal มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายระลอกที่ทำให้คนไทยและหลายประเทศใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ที่บ้าน การใช้พื้นที่สวนกลางแจ้งในบ้านนับเป็นการเชื่อมต่อชีวิตกับธรรมชาติ สายลมและแสงแดด ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ เสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว อีกทั้งเป็นพลังของคนเมืองที่จะช่วยกันลดสภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชนและสังคมอีกด้วย สังคมและโลกที่น่าอยู่เริ่มต้นได้จากสวนภายในบ้าน

             นับเป็นอีกแรงบันดาลใจ ให้คนรุ่นต่อๆไป มุ่งมั่นฟันฝ่าความท้าทายให้โลกประจักษ์ กล้าฝัน กล้าทำ และก้าวสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับโลก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad