\
ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ฉลองครบรอบ 20 ปี จัดสัมมนาใหญ่ “SME Transformation” ดึงสุดยอดมือบริหารองค์กรชั้นนำและกลุ่มธุรกิจดาวเด่น ร่วมเวทีแชร์ประสบการณ์ตรง ติดปีกความรู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมเปิด “คลินิก” ให้คำปรึกษาธุรกิจแบบครบวงจร เร่งปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล หนุนเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับสมาชิกชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการในงานสัมมนา “SME Transformation: เปลี่ยนผ่านธุรกิจ เติบโต ยั่งยืน” โอกาสครบรอบ 20 ปี ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ว่า เอสเอ็มอีมีความสำคัญอย่างมากต่อรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน และสร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 35% ของ GDP รวมทั้งเป็นรากฐาน Supply Chain ที่สำคัญของหลายๆ อุตสาหกรรมของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งธนาคารกรุงเทพเล็งเห็นศักยภาพและให้ความสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค และของโลก
“เราไม่เพียงสนับสนุนเอสเอ็มอีในด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมุ่งเป็น Facilitator ที่ช่วยประสานความร่วมมือกับภาคราชการและสถาบันการศึกษา ให้มาถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เทคโนโลยีการผลิต การเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านเครือข่าย Supply Chain อีกทั้งธนาคารยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ของธนาคาร” นายชาติศิริ กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษ เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง ได้รับผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ให้สามารถประคับประคองกิจการและรักษาการจ้างงาน เพื่อรอโอกาสที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับโอกาสทางธุรกิจจากสถานการณ์เดียวกัน ธนาคารก็ได้สนับสนุนสินเชื่อสำหรับการขยายธุรกิจ และรายใด ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยน Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารยินดีให้ การสนับสนุนทั้งด้านเงินลงทุนและ Know-how ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายพันรายที่ได้รับประโยชน์จากสินเชื่อพิเศษนี้
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและทางออกในการพัฒนา เอสเอ็มอีไทย” ว่า จากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) พบว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท และเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจีดีพีดังกล่าว โดยกลุ่มธุรกิจบริการมีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 40%
ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีในไทย ต้องประสบปัญหาในหลายด้าน อาทิ ด้านต้นทุน การขาดแรงงานฝีมือ ขาดองค์ความรู้ในเชิงลึก และขาดศักยภาพการแข่งขัน แต่หนึ่งสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยยังขาด คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม
“ในยุคดิจิทัล เอสเอ็มอีจะต้องนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีมาปรับใช้ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวจะทำให้เกิดปัญหา Digital Disruption จนธุรกิจไปต่อไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนมีแนวทางสนับสนุนภาคธุรกิจในเรื่องนี้จำนวนมาก เพื่อให้ภาคธุรกิจมีภูมิต้านทานและพร้อมจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน” นายพิเชฐ กล่าว
ตัวอย่างเช่น ภายในงานสัมมนา “SME Transformation : เปลี่ยนผ่านธุรกิจ เติบโต ยั่งยืน” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอีนี้ ที่นอกจากจะได้รับความรู้จากสุดยอดผู้บริหารองค์กรชั้นนำแล้ว ผู้ประกอบการยังจะได้เห็นตัวอย่างของกลุ่มเอสเอ็มอีดาวเด่น 10 ธุรกิจจากชมรมฯ ที่นำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ รวมทั้งบริการ “คลินิก” ให้คำปรึกษาจากหน่วยงานพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น บูธ BOI ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ, บูธ DEPA แนะนำวิธีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิทัล, บูธ NIA ส่งเสริมการปั้นธุรกิจ SME สู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และ บูธ สวทช. สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคการผลิตและบริการ และยังสามารถขอคำปรึกษาด้านการลงทุนกับบูธธนาคารกรุงเทพ โดยมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อ Bualuang Green เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รับมือต่อความท้าทายของธุรกิจและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อเอสเอ็มอี” ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเตรียมตัวรับมือ 4 เรื่องสำคัญที่จะเกิดการเปลี่ยนในอนาคต ได้แก่
- การปรับตัวในในยุค Industrial Revolution 4.0 ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวให้ทัน และนำเข้ามาปรับใช้เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
- ร่วมเป็น Supply Chain ใหม่ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่จะรุนแรงขึ้น จะนำมาสู่โอกาสใหม่ของอาเซียน โดยคาดว่าการลงทุนจะไหลเข้าสู่ประเทศในอาเซียนมากขึ้น และเชื่อว่าภายใน5 ปีข้างหน้าอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งด้านการลงทุนเศรษฐกิจ และท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนได้
- โอกาสของภูมิภาคเอเชียและอาเซียน จากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเจริญขยายสู่หัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีโอกาสในการขายสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
- มาตรการใหม่ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการการใช้แรงงาน รวมทั้งมาตรการทางการเงิน ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ด้านนายศุภชัย จินตนาเลิศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุขสมบูรณ์ น้ำมันปาล์ม จำกัด สมาชิกชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี กล่าวว่า บริษัทเข้าร่วมชมรมฯ ตั้งแต่รุ่นแรก และเป็นช่วงที่บริษัทได้เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มแห่งแรกในภาคตะวันออก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้อย จนได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจจากผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพ ผ่านชมรมฯ และเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญด้วยการนำ “นวัตกรรม” เข้ามาปรับใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากและดูเหมือนไกลตัว แต่การอบรมกับ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร ฯ ธนาคารกรุงเทพ ได้แนะนำให้เห็นว่า นวัตกรรมไม่ใช่เพียงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ต้องลงทุนสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนบัญชี การบริหารแรงงาน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเอสเอ็มอี บริการจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะสามารถพาธุรกิจอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์
“ที่ผ่านมาสมาชิกเครือข่ายชมรมฯ มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกันอยู่เสมอทั้งจากสมาชิกด้วยกัน และจากฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเหมือนเป็นคู่มือ ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยบริษัทเองในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ด้วยข้อมูลเชิงลึกนี้ ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จนมียอดขายเติบโตได้ถึง 3 เท่าจากช่วงปกติ” นายศุภชัย กล่าว
ด้านนายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. (A.I. Group) และ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด (A.I.Technology) อีกหนึ่งสมาชิกของชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย แต่มีจุดอ่อน คือ ขาดองค์ความรู้ในการบริการจัดการธุรกิจ ซึ่งชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอีได้เห็นถึงความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ โดยนอกจากกิจกรรมการอบรมสัมมนา ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจ สิ่งสำคัญคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งข้อมูลจากธุรกิจกิจที่ใกล้เคียงกันก็สามารถนำมาปรับใช้ต่อยอดในธุรกิจของตนเองได้ ทั้งนี้ แนะนำว่าธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ควรต้องทำความเข้าใจว่าตนเองมีจุดอ่อน-จุดแข็งอย่างไร ต้องประเมินสถานการณ์ธุรกิจในอนาคต รู้จักลดความเสี่ยงจากการลงทุน รวมทั้งพัฒนาความรู้ทั้งด้านทักษะแรงงาน บริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพพร้อมกับผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่
สำหรับงานสัมมนา “SME Transformation : เปลี่ยนผ่านธุรกิจ เติบโต ยั่งยืน” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ธนาคารได้ร่วมกับชมรมฯ จัดขึ้น เพื่อส่งมอบสิ่งสำคัญคือการเติมความรู้ เสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยได้รับเกียรติจากสุดยอดผู้บริหารองค์กรชั้นนำมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรง ทั้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ องค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปูนชิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG รวมทั้งสมาชิกดาวเด่นของชมรมที่เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อต่างๆ เตรียมพร้อมให้ธุรกิจรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากภาวะเศรษฐกิจ และกฎระเบียบต่างๆในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี เป็นหนึ่งในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการของธนาคารกรุงเทพจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 จากดำริของ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร ที่ต้องการให้เกิดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจากธนาคารและจัดตั้งเป็น “ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี” โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อขยายฐานการสร้างเครือข่ายสมาชิกที่แข็งแรง ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ภายใต้สโลแกน “สัมพันธ์ดี มีเครือข่าย ได้ความรู้ อุ้มชูธุรกิจ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น