SoCHAMP ภารกิจสร้างหัวรถจักรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ของ มจธ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566

SoCHAMP ภารกิจสร้างหัวรถจักรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ของ มจธ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 




คำว่า “กิจกรรมเพื่อสังคม” ของนักศึกษาเมื่อหลายสิบปีก่อน อาจมีหลายลักษณะ ทั้งอาสาพัฒนาชุมชน กิจกรรมกับคนด้อยโอกาส รวมไปถึงการรวมกลุ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ ซึ่งด้วยวิถีชีวิตของนักศึกษาที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ การทำกิจกรรมเพื่อสังคม จึงเป็นเครื่องมือที่สร้างเรียนรู้และรู้จักตนเอง รวมไปถึงการสร้าง “จิตสำนึกสาธารณะ” และ “การทำงานเพื่อสังคม” ให้กับคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

แต่ในยุคปัจจุบัน ที่นักศึกษาสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่มีความคิด หรือความสนใจในเรื่องเดียวกันได้ทั่วโลก เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว  ทำให้ค้นพบ “ตัวตน” “ความต้องการ” รวมถึง “เป้าหมายในชีวิต” ได้ด้วยตัวเอง ความสนใจในกิจกรรมลักษณะนี้ของนักศึกษาปัจจุบันจึงมีน้อยลง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชั่วโมงเรียนที่นักศึกษาต้องเข้าร่วมให้ครบ มากกว่าความสนใจหรือสมัครใจของตัวนักศึกษาเอง

นั่นจึงเป็นที่มาของ SoCHAMP (Social Change Agent Maker Program) หรือ “โปรแกรมสร้างผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคม” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อันเกิดจากโจทย์ของ มจธ. ที่ต้องการสร้างรูปแบบการพัฒนาผู้นำนักศึกษา ที่คล้ายๆ กับการสร้างหัวรถจักรรถไฟ ที่แต่ละหัวจะทำหน้าที่ลากจูงโบกี้ที่ประกอบไปด้วยนักศึกษาในคณะและภาควิชาต่างๆ ผ่านการทำกิจกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งกับตนเองและสังคม

“เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ คือ “การสร้างผู้นำของการสร้างการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยและสังคม” ให้กับกลุ่มนักศึกษาชั้นปี และปี ที่มีลักษณะความเป็นผู้นำสูงจากคณะต่างๆ ปีละประมาณ 60 คน ผ่านกิจกรรมในรูปแบบของค่ายผู้นำทางความคิด เพื่อปลูกฝังแนวคิดและทัศนคติของการทำงานเพื่อส่วนรวม ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในหัวข้อที่ตนเองสนใจ พร้อมทั้งมีการให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการบริหารโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับได้เขียนโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมในประเด็นที่เขาสนใจ เพื่อส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับเพื่อนๆ และน้องๆ ในคณะหรือภาควิชาของตนเองต่อไป” อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ. ในฐานะที่ปรึกษาของกิจกรรม SoCHAMP กล่าว


ดร.ปนาลี แทนประสาน
 ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษา มจธ. กล่าวเสริมว่า นอกจาก SoCHAMP ที่เปรียบเสมือนหัวขบวนรถจักรแล้ว มจธ.ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ อีกหลายโบกี้

“กิจกรรมจิตอาสาของ มจธ. จะเน้นให้นักศึกษาได้สัมผัสและลงมือทำจริง ๆ และเรายังให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ในปีต่อไปรุ่นน้องที่เคยร่วมโครงการนี้สามารถรับช่วงและส่งต่อกิจกรรมและแนวคิดของการทำงานเพื่อสังคมไปสู่รุ่นต่อ ๆ ไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักศึกษา SoCHAMP ที่ร่วมในกิจกรรมเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว”


นายสิรวิชญ์ วัฒโน
 (น้องเบส) นักศึกษาชั้นปีที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ได้เข้าร่วมในกิจกรรมค่าย SoCHAMP เมื่อปี 2565 กล่าวว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะได้ทำให้ตนเองมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล และหัวใจของการทำงานเพื่อส่วนรวมและสังคมแล้ว ยังทำให้รู้ว่ามีเพื่อนและน้องๆ ทั้งในกลุ่ม SoCHAMP และเพื่อนๆ จากกิจกรรมค่ายอาสาที่จังหวัดน่าน พร้อมใช้ศักยภาพของตนเองในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมต่อไป

อาจารย์สุเมธ  กล่าวว่า “ภารกิจสร้างหัวรถจักรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ภายใต้โปรแกรมสร้างผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ มจธ. ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน สามารถนำความรู้แนวทางปฏิบัติไปเผยแพร่และขยายผลต่อชุมชนและสังคมรอบข้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน หรือ ‘Sustainability Change Agents’”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad