นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้เกียรติเป็นประธาน และ
พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด พร้อมกับข้าราชการกรมควบคุมโรค รับฟังประสบการณ์การรับมือปัญหาโควิด-19 จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน
นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ งานสัมมนานี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังประสบการณ์การรับมือโรคโควิด-19 จากประเทศจีน สำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการป้องกัน ไม่มียอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงต้องมองสถานการณ์ให้รอบด้านเพื่อรับมือกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ซึ่งมีข้อมูลที่ควรศึกษา อาทิ การบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน การจัดสรรทรัพยากรอย่างทั่วถึง การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ระบบติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและระดับท้องถิ่น
“การจัดสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการผสานให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเรียนรู้และวิเคราะห์จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากประเทศจีน ทั้งในเรื่องของนวัตกรรมเพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วย หรือการวางมาตรการป้องกันการระบาดคลื่นลูกที่สองซึ่งขณะนี้ทุกประเทศกำลังพยายามอย่างเต็มที่”
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศจีน 4 ท่านที่ให้เกียรติเป็นผู้บรรยาย ได้แก่ นพ. เออเจิน เฉิน (Erzhen Chen) รองประธานโรงพยาบาลลุยจิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง และ นพ.จิตง แชง (Jidong Zhang) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเร็นจิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง นพ.จุน หลุย (Jun Liu) รองประธานโรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้เจนเนอรัล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง และ ดร.จอน ไค (John Cai) ผู้ก่อตั้งและประธานสถาบันนวัตกรรมระบบสุขภาพประเทศจีน
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศจีนได้อธิบายถึงมาตรการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประทศจีน ซึ่งดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ป้องกันการระบาดภายในประเทศมุ่งเน้นหลักการตรวจพบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และ ให้ความสำคัญกับชุมชน อีกระดับคือ ป้องกันการปะทุซ้ำของโรคในจุดสำคัญ เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองตามสถานที่ต่างๆ
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ป้องกันผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ (Imported cases) ผสมผสานวิธีการรักษาพยาบาลพิจารณาตามอาการผู้ป่วย นอกจากนี้ยังยังมีทีมแพทย์รับมือความเครียดหรือ Psychological support team ให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
ในระหว่างงานสัมมนา วิทยากร กล่าวว่า ประเทศจีนได้นำไปวางแผน สร้างระบบการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารจำนวนอุปกรณ์หรือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงระบบการขนส่งที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที
พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ แผนกฟาร์มาซูติคอล บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์สำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ ระหว่างกรมควบคุมโรคและสถาบันการแพทย์จากประเทศจีนในเรื่องโควิด-19 นอกจากการจัดสัมมนาร่วมกับกรมควบคุมโรคแล้ว ไบเออร์ ยังมีการจัดงานประชุมทางไกลระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย โดยบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการสนับสนุนด้านวิชาการต่างๆเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์ให้กับการช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ในประเทศไทย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น