เกษตรกรทวงถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตก หลังปล่อยกุ้งต่างชาติรุกรานกุ้งไทย กรณีศึกษาห้องเย็นฟันกำไร แต่คนเลี้ยงตายคาบ่อ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เกษตรกรทวงถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตก หลังปล่อยกุ้งต่างชาติรุกรานกุ้งไทย กรณีศึกษาห้องเย็นฟันกำไร แต่คนเลี้ยงตายคาบ่อ

 


นายปรีชา สุขเกษม
 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดสงขลาเปิดเผยว่า ขณะนี้ราคากุ้งกำลังอ่อนตัวและตกต่ำอย่างรวดเร็ว หลังคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือ บอร์ดกุ้ง อนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย โดยอ้างมีการประกันราคาช่วยอยู่ หน้าฉากตั้งราคาขั้นต่ำเท่าต้นทุนบนเงื่อนไขคุณสมบัติกุ้งขั้นนางฟ้า คาดเกษตรกรรายกลาง-รายย่อยขาดทุนยับ แนะรัฐหันส่งเสริมผลผลิตกุ้งไทยทดแทนนำเข้า

 

Shrimp Board ระบุว่าการนำเข้ากุ้งหมื่นตันจากเอกวากดอร์และอินเดียจะไม่กระทบราคาในประเทศ แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม เพราะราคากุ้งกำลังอ่อนตัวและตกต่ำอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาประกันขั้นต่ำที่ห้องเย็นตั้งไว้นั้นเท่ากับราคาต้นทุนการผลิตที่ยังไม่รวมโสหุ้ยอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้เกษตรกรขายในราคาขาดทุน แบบนี้  Shrimp Board จะรับผิดชอบและหาทางแก้ไขอย่างไร” นายปรีชากล่าวและว่า

 

เกษตรกรรายกลางรายย่อย ไม่ได้มีสายป่านยาวและไม่มีกำลังในการต่อรองกับห้องเย็น จำเป็นต้องขายกุ้งในราคาต่ำ ขณะที่ถูกกลุ่มผลประโยชน์ใช้อ้างเป็นเหตุผลรองรับนโยบายนำเข้ากุ้ง เช่น เกษตรกรไทยผลิตกุ้งไม่เพียงพอบ้าง กุ้งไม่ได้ขนาดที่ต้องการบ้าง  สิ่งเหล่านี้ทำให้ความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยสั่นคลอน ทั้งๆที่เกษตรกรเป็นกลุ่มเป้าหมายและเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางนโยบายที่แท้จริงที่ภาครัฐควรมุ่งแก้ปัญหามากที่สุด

 

นายปรีชาย้ำว่ากุ้งไทยยังเลี้ยงได้ ยังพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก ไม่จำเป็นต้องนำกุ้งจากต่างชาติเข้ามา เพราะการนำเข้ากุ้งเป็นการรุกรานอาชีพเกษตรกรไทย  ประเด็นนี้กรมประมงและกระทรวงเกษตรฯ น่าจะรู้ดีว่าการสนับสนุนซื้อกุ้งต่างชาติจะเป็นผลลบกับเกษตรกรไทยเหมือนเราส่งงบประมาณหมื่นล้านไปช่วยพัฒนาการเลี้ยงกุ้งในประเทศเขา เสริมความเข้มแข็งให้คู่แข่ง

 

การเปิดประตูให้กุ้งต่างชาติที่มีคุณภาพต่ำกว่า เข้ามาย่ำยีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านเรา แทนที่จะพยายามส่งเสริมการเลี้ยงในประเทศมันเหมาะสมแล้วหรือครับ ขอเรียกร้องให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรบ้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมการเลี้ยง ให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งให้ได้ แสนตันตามเป้าหมาย แทนการหาวิธีการง่ายด้วยๆ ด้วยการนำเข้ากุ้งมาซ้ำเติมเกษตรกรเช่นนี้”

 

ทั้งนี้ ราคากุ้งขาวแวนาไม เมื่อ 15 สิงหาคม ราคาขนาด 60 ตัว/กิโลกรัมอยู่ที่ 160 บาท ขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 150 บาท ขนาด 80 ตัว/กก.ราคา 135 บาท ขนาด 90 ตัว/กก.ราคา 125 บาท และขนาด 100 ตัว /กก.ราคา 120 บาท ส่วนราคากุ้งขาวในวันนี้ ขนาด 60 ตัว/กก.ราคา 140 บาท ขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 130 บาท ขนาด 80 ตัว /กก.ราคา 120 บาท ขนาด 90 ตัว/กก.ราคา 115 บาท และราคา 100 ตัว /กก.ราคา 115 บาท ทุกขนาดปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5  -20 บาทแล้ว./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad