สรท. วิตกปัญหาค่าระวางเรือ ฉุดส่งออกไตรมาส 4/2564 ลากยาวปี 2565 - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สรท. วิตกปัญหาค่าระวางเรือ ฉุดส่งออกไตรมาส 4/2564 ลากยาวปี 2565

 


วันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 10.30-12.00 น. ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษา สรท. นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ระบุภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2564 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.93% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 715,416.40 ล้านบาท ขยายตัว 12.83% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมขยายตัว 19.43%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,191.89 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 47.92% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 765,248.80 ล้านบาท ขยายตัว 53.20% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ขาดดุลเท่ากับ 1,215.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 49,832.40 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม สิงหาคมของปี 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 176,961.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.25% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,441,613.75 ล้านบาท ขยายตัว 13.78% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกใน 8 นี้ขยายตัว 21.22%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 175,554.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 30.97% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,476,523.71 ล้านบาท ขยายตัว 29.52% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม - สิงหาคมของปี 2564 เกินดุล 1,406.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขาดดุล 34,909.96 ล้านบาท

ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 12% (ณ เดือนตุลาคม 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจประเทศคู้ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่องและอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI Index) ของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก 2) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากที่สุดในระยะ 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ Fed เข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE เร็วขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดการณ์ รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในประเทศไทยที่ยังไม่คลี่คลาย และมีความเป็นไปได้ในการกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ และการกระจายวัคซีนยังไมทั่วถึง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมภายในประเทศจะลดลง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการกระจายวัคซีนยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งหากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการระบาดและไม่สามารถเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายวัคซีนสองเข็ม 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี และหากต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งจะส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการส่งออกจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ 2) ค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี 65 โดยเฉพาะ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนอาจเทียบเท่าราคาสินค้า และปัญหา Container Circulation และ Space allocation ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้ายังไม่เพียงพอกับความต้องการส่งออก 3) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

 

ข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 1) เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็วและขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 Antigent Test Kit (ATK) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ 2) เร่งแก้ไขปัญหาค่าระวางเรือในเส้นทางหลักให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ซึ่งสวนทางกับปริมาณคำสั่งซื้อต่างประเทศยังคงฟื้นตัวในระดับสูงต่อเนื่องและคุณภาพการให้บริการของสายเรือ ในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าขนส่งไหวและจะกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของประเทศ  3) เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และ 4) เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ภาษีสินค้าเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ วัตถุดิบสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad