สสท. เปิดเวที ประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นต่าง ร่างกฎกระทรวงฯ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สสท. เปิดเวที ประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นต่าง ร่างกฎกระทรวงฯ

 


 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง “ร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 2 มุมมองของคนสหกรณ์ จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ?” และรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (ร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ..) โดยมี นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. ดำเนินรายการ และ ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา รองประธานฯ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย  นายไพบูลย์ แก้วเพทาย อดีตประธานฯ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ผศ.อาภากร มินวงษ์ อดีตประธานฯชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย และนายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษา สันนิบาตสหกรณ์ฯ ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ

                                                                          


      📍นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท . กล่าวถึงที่มาร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวง ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาและรวมร่างกฎกระทรวงดังกล่าว 5 ฉบับเป็นฉบับเดียวพร้อมทั้งแก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวง เป็น “ร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ...”  แต่เนื่องด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้  จึงเห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกันให้ได้ข้อยุติและเสนอร่างกฎกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาหลักการอีกครั้ง กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้รับฟังความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ต่อมา ต้นเดือนมิถุนายน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ เสนอกฎกระทรวงฉบับที่ 2 อันเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ประเภทเครดิต ยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวม 5 เรื่องซึ่งเป็นสาระที่ค่อนข้างสำคัญส่งผลกระทบต่อระบบสหกรณ์ รวมถึงกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองและส่งเสริมขบวนการสหกรณ์เท่าทีควร จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาประชาพิจารณ์ในครั้งนี้

           


📍ผู้เสวนาและผู้เข้าร่วมทั้งในห้องประชุมและที่ผ่านระบบ ZOOM ร่วมกันถกและเสนอความคิดเห็นของร่างร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (ร่างกฎกระทรวง การบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ..... ) รวม 3 ประเด็น ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์และสมาชิก

                                                                         


             1. ร่างกฎกระทรวงฯได้กำหนดให้การกู้เงินทุกประเภทที่เกิน 2 ล้านบาท จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเครดิตบูโร ส่งผลให้สมาชิกเข้าสู่ระบบการกู้เงินของสหกรณ์ได้ยากขึ้น เนื่องจากมีระบบการตรวจสอบ ที่เข้มข้นแต่ระบบสหกรณ์เป็นระบบที่มีความพิเศษแตกต่างจากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ  เช่น สหกรณ์มีการค้ำประกันโดยสมาชิก มีทุนเรือนหุ้น มีเงินฝากและสามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ การบังคับเข้าระบบเครดิตบูโร อาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกโดยตรง คือ สมาชิกส่วนใหญ่อาจจะกู้ไม่ได้ หรือกู้ได้ยากขึ้น และเป็นการผลักดันให้สมาชิกต้องกู้นายทุนและกู้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยแพง ส่งผลต่อปากท้องของประชาชนคนรากหญ้า นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงยังกำหนดให้สหกรณ์ไม่สามารถเอาเรื่องของฌาปนกิจสงเคราะห์มาเป็นหลักประกันได้ ทำให้ หากสมาชิกถึงแก่กรรมจะไม่สามารถ ชำระหนี้ได้ ทำให้เป็นภาระของผู้ค้ำประกัน หรือไม่ก็เป็นภาระของสหกรณ์ ที่จะต้องค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน

                 2. การรับเงินฝากกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินรับฝาก โดยร่างกฎกระทรวงฯกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ต้องอ้างอิงข้อมูลตามดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  โดยกำหนดดอกเบี้ยเงินรับฝากได้ไม่เกินร้อยละ 3.50 % ต่อปี (ดอกเบี้ยนโยบาย 0.50 + 3.00%) ทำให้สหกรณ์ขาดความเป็นอิสระต้องยึดโยง กับนโยบายของ กนง. ซึ่งเกิดความไม่เป็นธรรมเพราะแม้แต่สถาบันการเงินหลักหรือแบงก์ชาติ ยังไม่ต้องกำหนดดอกเบี้ยตามนโยบายของ กนง. เนื่องจาก ธนาคารมีขนาดไม่เท่ากัน มีโครงสร้างเงินทุนแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับสหกรณ์ อีกทั้งในปัจจุบัน ตลาดโลกมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ฉะนั้นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย แบบนี้จะสวนกระแสตลาดและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบให้สหกรณ์ ไม่สามารถรับฝากเงินได้ และเหมือนเป็นการพยายามทำให้เงินฝากในระบบเงินฝากของสหกรณ์ไหลไปสู่สถาบันการเงินอื่น เช่น ธนาคาร หรือตลาดหลักทรัพย์ หรือกองทุน

              3. การจัดชั้นลูกหนี้เงินกู้และการให้สินเชื่อหรือสินทรัพย์ให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและการกันเงินสำรอง และสามารถจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง  เพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวของความเสี่ยงไม่ให้สูงจนเกินไปและสอดคล้องกับการบริหาร เรื่องดังกล่าวเป็นการจัดชั้นคุณภาพและการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งของเดิมสามารถนำเงินเรือนหุ้นมาหักได้ แต่ร่างกฎกระทรวงใหม่ ไม่สามารถเอาทุนเรือนหุ้นไปหักหนี้ก่อนตั้งค่าหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ ทำให้สหกรณ์ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดหนี้เสีย  (NPL) ของสหกรณ์สูงขึ้น เมื่อหนี้เสียสูงเมื่อนำไปหักลบกลบกำไรแล้วทำให้กำไรของสหกรณ์ลดลง เมื่อกำไรลดลงปันผลและเฉลี่ยคืน ก็ลดลงตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อสมาชิกและส่งผลกระทบต่อสหกรณ์

                                                                             


             📍ผศ.ดร.รังสรรค์ ปิติปัญญา ให้ข้อสังเกตว่า ร่างกฎกระทรวงนี้นำเอาแนวคิดทุนนิยมมาใช้กับสหกรณ์ซึ่งกรอบแนวคิดจะไม่เหมือนกัน แนวคิดทุนนิยมเน้นผลกำไรและความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่หลักการสหกรณ์เน้นการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แนวคิดทุนนิยมทำให้สหกรณ์ไม่สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้อย่างเต็มที่ รับฝากได้น้อยลง กู้กันเองได้ยากขึ้น ผลักดันให้สมาชิกสหกรณ์ต้องกู้นอกระบบ ถือเป็นการทำลายศักยภาพการทำงานของสหกรณ์ รวมถึงขัดต่อหลักการพึ่งพากันเอง 

                                                                         


 

           📍นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ให้ความเห็นว่า สหกรณ์ไม่ใช่ธนาคาร การที่ร่างกฎกระทรวงฯกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ต้องอ้างอิงข้อมูลตามดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน โดยกำหนดดอกเบี้ยเงินรับฝากได้ไม่เกินร้อยละ 3.50 % ต่อปี นั้นไม่เหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความเข้าใจระบบสหกรณ์ที่เป็นการทำธุรกรรมในวงศ์สัมพันธ์เดียวกันซึ่งเป็นคนละหลักการกับธนาคารอย่างสิ้นเชิง 

           


📍ผศ.อาภากร มินวงษ์ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ กระทบต่อการกำกับดูแลทางการเงิน และการเติบโตของสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยน ที่มีความแตกต่างจากสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎกระทรวงฯ ขาดความเข้าใจ และนำตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องมาบังคับใช้  กล่าวคือ สหกรณ์เครดิตฯไม่ได้ดำเนินการหักเงินค่าหุ้น ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกับสหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ แต่เมื่อนำกฎกติกาเดียวกันมาใช้จะส่งผลให้สหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยนต้องหายไปจากสารระบบของสหกรณ์ไทย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆมาตราที่ขัดต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยนและอาจส่งผลกระทบระยะยาวให้ปัญหาบานปลายจนเกินกว่าจะแก้ไขได้

               


📍นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ กฎกระทรวงฯน่าจะเขียนคลาดเคลื่อน หลายอย่างเช่นหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ ,การกำหนดให้สหกรณ์ไม่สามารถเอาเรื่องของฌาปนกิจสงเคราะห์มาเป็นหลักประกันได้,การตั้งหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ และ ไม่สามารถเอาทุนเรือนหุ้นไปหักหนี้ก่อนตั้งค่าหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ ทำให้สหกรณ์ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดหนี้เสีย  (NPL) ของสหกรณ์สูงขึ้น 

                                                                               



       จะเห็นได้ว่า โดยรวมร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ หากนำมาบังคับใช้จริง จะส่งผลให้สหกรณ์เติบโตอย่างยากลำบาก อีกทั้งร่างฯ ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการบริหารของคณะกรรมการสหกรณ์ขัดต่อหลักการสหกรณ์ ข้อ ที่ 4 คือสหกรณ์ต้องพึ่งตนเองและมีความเป็นอิสระ รวมถึงในอนาคตสหกรณ์ต้องเตรียมรับมือกับร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 3      ซึ่งเป็นเรื่องการฝากและการลงทุนของสหกรณ์ อันน่าจะกระทบต่อสหกรณ์โดยภาพรวมไม่มากก็น้อย สสท. จะจัดรวบรวมความคิดเห็นของการประชาพิจารณ์ในวันนี้ สรุปให้สำนักงานกฤษฎีกา , กระทรวงเกษตรฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  หากกฎกระทรวงฯที่ออกมายังไม่คุ้มครองหรือไม่สร้างเสถียรภาพต่อสหกรณ์อาจจะต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปตามระบบประชาธิปไตยต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad