Micro-Credentials โมเดลพัฒนากำลังคนระดับสูง เพื่ออุตสาหกรรมไทย ฝ่าวิกฤต Disruption มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

Micro-Credentials โมเดลพัฒนากำลังคนระดับสูง เพื่ออุตสาหกรรมไทย ฝ่าวิกฤต Disruption มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)


 ที่ผ่านมาบริษัทที่จะสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ จำเป็นต้องมีผู้บริหารหรือพนักงานในระดับตัดสินใจที่พร้อมที่จะอัปสกิลตัวเองให้มี “สมรรถนะ” และ “ความรู้” ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งในต่างประเทศเรียกรูปแบบการพัฒนาคนกลุ่มนี้ว่า Higher Education โดยวิธีการที่นิยมใช้ คือ การสนับสนุนให้พนักงานเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เอก หรือหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน

แต่ในยุค Disruption ที่ “สมรรถนะ” หรือ “ความรู้” ที่ได้เล่าเรียนมา “ตกยุค” เพราะความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ใบปริญญาบัตรและหลักฐานการเรียนหรืออบรมในหลักสูตรต่างๆ จะเป็น “เอกสารรับรองสมรรถนะในอดีต” ที่อาจไม่เพียงพอสำหรับการพิจารณาในการ “รับเข้าทำงาน” หรือ “ปรับเลื่อนตำแหน่ง” ขององค์กรในวันนี้และอนาคต


ดังนั้น นอกเหนือจากการสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนระดับสูง (Higher Education) แบบครบวงจรแล้ว สถานศึกษาในอนาคตจะต้องมีรูปแบบของ “การรับรองความสามารถรายบุคคล” ที่แสดงถึง “ความสามารถ (Ability)” และ “ศักยภาพ (Potential) ผ่านผลงานหรือการทำงานจริงที่จำเพาะแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังได้เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้วในประเทศตะวันตกหลายประเทศ และสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ “Micro-Credentials” ที่แต่ละประเทศก็จะมีหน่วยงานที่ทำหน้ารับรองความสามารถรายบุคคล

รศ. ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า Micro-Credentials หรือ MC เป็นรูปแบบของการรับรองความสามารถในรูปแบบออนไลน์ ที่สามารถแสดงถึงทักษะความรู้ ประสบการณ์ หรือผลงานของบุคคลนั้น ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน โดย มจธ. คือสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย และลำดับต้นของอาเซียนที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา หรือ Education Transforming ที่เหมาะสมกับการพัฒนากำลังคนในระดับสูง (Higher Education) คือ การศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้  หรือ Outcome-based education (OBE) ที่หลักสูตรจะต้องมีการออกแบบให้เป็นไปตามความต้องการของ User ที่อาจเป็นบุคคลหรือองค์กร ดังนั้นนอกเหนือจากการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรที่ตอบโจทย์ข้างต้นได้แล้ว จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองผลงานหรือศักยภาพของบุคคลคนนั้นได้ด้วย มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงต้องการนำประสบการณ์การทำหลักสูตรสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการยาวนานกว่า 10 ปี มายกระดับตัวเองสู่การเป็นองค์กรที่มีสิทธิในการรับรองความสามารถรายบุคคล หรือ Micro-Credentials ที่มีมาตรฐานทัดเทียมหน่วยงานในยุโรปและอเมริกา รวมถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ”

จึงเป็นที่มาของการสัมมนาวิชาการเรื่อง “Micro-Credentials in Thai Higher Education: Opportunities, Challenges, and Outlook from ASEAN and Europe” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20 -21 กรกฎาคม 2565 โดยมี EU-SHARE ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาเรื่อง Higher-Education ของประเทศในกลุ่มยุโรปเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน 

ดร.กลางใจ สิทธิถาวร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา มจธ. ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกของอาเซียนที่ใช้ระบบการศึกษาแบบ Micro-Credentials แต่การที่ มจธ. ได้ทำเรื่องนี้มาต่อเนื่องกว่า 10 ปี และเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2562 ทำให้ SHARE เลือกให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่นำร่องของภูมิภาคในการทำ Micro-Credentials โดยในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนอประสบการณ์ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นโดย Micro-Credentials จากเครือข่าย EU-SHARE สถาบัน British Council จากอังกฤษ, DAAD จากเยอรมัน, NUFFIC จากเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ร่วมงานกว่า 100 ท่านจากหลายหน่วยงานด้านการศึกษาของไทย รวมถึงตัวแทนของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน ทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

“เป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้คือ การนำเสนอแนวคิด วิธีการจัดการศึกษาและแพลตฟอร์มของ Micro-Credentials ในต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทยได้เห็นถึงทิศทางของการศึกษายุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัย ทิศทางของตลาดแรงงานของโลก และการรับรองความสามารถระดับบุคคลมากกว่าใบปริญญาบัตร ซึ่ง Micro-Credentials คือการมองหาศักยภาพที่มีอยู่ในสถาบันการศึกษา และ Breakdown สิ่งที่เหล่านั้นออกมาเป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่สามารถเลือกหยิบมาจัดทำเป็นโมดูลการพัฒนากำลังคนด้าน Higher Education ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล อีกทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับความต้องการหรือแนวโน้มต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ดร.กลางใจ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ มจธ. คาดหวังจากการจัดงานครั้งนี้ นอกเหนือจากการนำสิ่งที่ได้จากเวทีไปใช้ในการทำหลักสูตรระดับ Higher Education ให้อยู่ในเกณฑ์การรับรองด้วย Micro-Credentials ของ มจธ. ให้มากขึ้นแล้ว (ปัจจุบันมี 34 MC) ยังเป็นการสื่อสารไปยังองค์กรที่เป็นเครือข่ายของ มจธ. โดยผู้ประกอบการได้เห็นประโยชน์และความจำเป็นของการใช้ Micro-Credentials ในการตัดสินใจด้านบุคลากร และการพัฒนากำลังคนระดับสูงของหน่วยงาน ขณะเดียวกัน ทาง มจธ. ยังต้องการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ เพื่อขยายแพลตฟอร์มการรับรองความสามารถรายบุคคลรูปแบบนี้ไปสู่สายอาชีพที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ เช่น สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

รศ. ดร.บัณฑิต กล่าวสรุปว่า หากการรับรองความสามารถระดับบุคคล หรือ Micro-Credentials  เกิดขึ้นจริงและได้รับการยอมรับ จะเป็นการยกระดับระบบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไปสู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละคนโดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ อาชีพ และที่สำคัญคือ จะเป็นการศึกษาที่สามารถผลิตทั้งบัณฑิตและกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในสาขานั้น ๆ กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในตัวเอง เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพขององค์กร และเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศในยุค Disruption ได้อย่างมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad