ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ “120 วัน เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ” - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ “120 วัน เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ”


 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 7 ในเดือนมิถุนายน 2564 ภายใต้หัวข้อ “120 วัน เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ควรพิจารณาจากความพร้อมและสถานการณ์ในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสำคัญ ซึ่งการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ และจำนวนเพียงพอ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศ

 

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 201 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก

45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า

การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ควรเปิดเมื่อสถานการณ์มีความพร้อมโดยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 56.7 รองลงมา เห็นด้วยกับเป้าหมายในการเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน คิดเป็นร้อยละ 31.3 และมองว่ายังไม่ควรเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะ 3 – 4 เดือนนี้ คิดเป็นร้อยละ 9.5 ส่วนความเห็นที่ต้องการให้เร่งเปิดประเทศให้เร็วกว่าเป้าหมาย คิดเป็นร้อยละ 2.5

 

ในส่วนของปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ จำนวนเพียงพอ และการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คิดเป็นร้อยละ 93.0 รองลงมา เป็นการกำหนดแผนงานที่ชัดเจน มีระบบการประเมินสถานการณ์ และการสื่อสารที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 74.6 และการเตรียมการในส่วนของมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยว เช่น วัคซีนพาสปอร์ต, Vaccine certificate, Health insurance, ใบรับรองแพทย์ Fit To Fly เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 72.6 โดยรูปแบบการเปิดประเทศที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าเหมาะสมนั้น ได้แก่ การทยอยเปิดเป็นบางพื้นที่ตามความพร้อมของจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 59.2 รองลงมา การเปิดเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว (Sealed Routes) เช่น Phuket Sandbox คิดเป็นร้อยละ 34.8 และลำดับสุดท้ายเป็นการเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 6.0 

 

สำหรับมาตรการกำกับดูแลที่ภาครัฐควรดำเนินการหลังเปิดประเทศนั้น พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การประเมินศักยภาพพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว การจำกัดพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว และการเดินทางข้ามจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 74.1 รองลงมา การพัฒนาระบบติดตามการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 72.1 และการบริหารงานแบบ One Stop Service รวมถึง การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 67.2 นอกจากนี้ FTI Poll ยังถามไปถึงกรณีที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังจากการเปิดประเทศ ภาครัฐควรเตรียมแผนสำรองในการรับมือไว้อย่างไร พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน สถานที่กักตัวทางเลือก และโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 83.1 รองลงมา การนำเข้าวัคซีนที่รองรับเชื้อกลายพันธุ์ และเร่งพัฒนาวัคซีนที่ผลิตได้เองภายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 71.6 และ

การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรค เช่น ห้ามกิจกรรมที่มีความเสี่ยง มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่ การจำกัดพื้นที่ท่องเที่ยว และการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 65.7

 

ทั้งนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงประเด็นความร่วมมือของภาคเอกชนในการสนับสนุนการเปิดประเทศตามเป้าหมายของภาครัฐ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การสนับสนุนวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 81.1 รองลงมา การควบคุมดูแลพนักงานในสถานประกอบการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ คิดเป็นร้อยละ 80.6 และการพัฒนาสินค้าโดยให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงการทำมาตรฐานด้านสุขอนามัย เช่น IPHA คิดเป็นร้อยละ 51.2

 

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยภายหลังการเปิดประเทศ โดย

ส่วนใหญ่ มองว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คิดเป็นร้อยละ 81.6 รองลงมาชะลอตัวต่อเนื่องจากแรงกดดันจากผลกระทบของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 14.4 และสุดท้ายคาดว่าจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 4.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad