ส.อ.ท. หวั่นการส่งออกติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน ฉุดภาคการผลิตแย่ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ส.อ.ท. หวั่นการส่งออกติดลบต่อเนื่อง 8 เดือน ฉุดภาคการผลิตแย่

 


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 30 ในเดือนมิถุนายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “การส่งออกหดตัว กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน”
 พบว่า สืบเนื่องจากตัวเลขการส่งออกของไทยที่ส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยมีมูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ 24,340.9 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 5 เดือนของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่า 116,344.2 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง 5.1% และหากจะทำให้การส่งออกไทยกลับมามีมูลค่าเท่ากับปี 2565 หรือเป็นบวกนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าจะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มากกว่า 24,024 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากปัจจัยทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ ยังคงส่งผลกระทบทำให้ภาคการส่งออกไทยและอีกหลายประเทศหดตัวไปในทิศทางเดียวกัน


จากภาวะการส่งออกไทยที่หดตัวต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท. ประเมินว่า ภาพรวมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่มีทิศทางหดตัว ถึงแม้จะมีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถรักษาระดับการส่งออกไว้ได้ โดยปัจจัยสำคัญมาจากคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน นอกจากนี้ภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ/ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้บริหาร     ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งช่วยกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์ การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใน FTA ฉบับเดิมให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) การจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น 


จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 210 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก
45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 30 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1.  ยอดการส่งออกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 มีทิศทางอย่างไร
อันดับที่ 1 : ทรงตัว             27.7%
อันดับที่ 2 : ลดลงมากกว่า 20%          23.3%
อันดับที่ 3 : ลดลง 1-10%               19.0%
อันดับที่ 4 : ลดลง 11-20%              13.8%
อันดับที่ 5 : เพิ่มขึ้น 1 - 10%              12.4%
อันดับที่ 6 : เพิ่มขึ้น 11 - 20%               3.3%
อันดับที่ 7 : เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%           0.5%

2.  ตลาดประเทศคู่ค้าที่อุตสาหกรรมส่งออกสินค้ามากที่สุด
อันดับที่ 1 : เอเชีย (ไม่รวมอาเซียน)       36.2%
อันดับที่ 2 : อาเซียน   27.6%
อันดับที่ 3 : สหภาพยุโรป      12.4%
อันดับที่ 4 : สหรัฐอเมริกา    11.4%
อันดับที่ 5 : ประเทศอื่นๆ     7.6%
อันดับที่ 6 : ตะวันออกกลาง    4.3%
อันดับที่ 7 : ละตินอเมริกา     0.5%

3.  ปัจจัยภายในเรื่องใดที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน          69.5%
                ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ/ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้  
อันดับที่ 2 : การแข่งขันระหว่างธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น        49.0%
อันดับที่ 3 : ภาวะอุปทานล้นตลาด (Over Supply) และสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง    37.1%
               ทำให้หลายโรงงานต้องลดการผลิตลง                                       
อันดับที่ 4 : ต้นทุนค่าขนส่งโลจิสติกส์ภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง     31.0%

4.  ปัจจัยภายนอกเรื่องใดบ้างที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ           71.4%
               ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว  
อันดับที่ 2 : สินค้าจีนทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศคู่ค้า เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน      30.5%
อันดับที่ 3 : ปัญหาวัตถุดิบ/ชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ยังขาดแคลนและราคาแพง     29.5%
อันดับที่ 4 : คำสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวลดลงตามฤดูกาล (Seasonal)    28.1%

5.  ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐดำเนินการในเรื่องใดเพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว (Multiple choices)
อันดับที่ 1 : ออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้      80.0%
                เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์   
อันดับที่ 2 : เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) และส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์    52.4%
                ทางภาษีใน FTA ฉบับเดิมให้มากขึ้น
อันดับที่ 3 : เพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ ๆ      41.9%
                เช่น การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) การจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
อันดับที่ 4 : เร่งดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้า      40.0%
               และส่งเสริมเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตาม
               มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTB)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad