อว. ร่วมกับ กกร. เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของภาคธุรกิจ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566

อว. ร่วมกับ กกร. เพิ่มขีดความสามารถพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของภาคธุรกิจ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

 


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นว่า ปัจจุบันการผลิตและพัฒนากำลังคนของสถาบันอุดมศึกษายังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนได้ เนื่องจากมีความไม่สอดคล้องกันของความต้องการและการผลิตบุคลากรในประเทศไทย ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งถือเป็นความท้าทายระดับชาติที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาคสถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชน เพื่อเรียนรู้และสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน ทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลาย ผ่านการจัดงาน “Thailand Future Careers 2023” เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคธุรกิจ  

 

ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัด Thailand Future Careers 2023 สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 เป็นกรอบการยกระดับคุณภาพของระบบอุดมศึกษาให้เกิดการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ที่เป็นปัจจัยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของสังคมไทย โดยการพัฒนาศักยภาพคน ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาและสมรรถนะกำลังคนตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ  พร้อมจัดระบบอุดมศึกษาใหม่ เร่งปฏิรูปข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการพัฒนาอุดมศึกษา มุ่งเน้นการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ ทำให้บทบาทของอุดมศึกษาจึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มความเข้มแข็งให้อุดมศึกษามีความพร้อมเป็นอุดมศึกษาที่พัฒนาแล้ว สามารถผลิตกำลังคนคุณภาพและองค์ความรู้ชั้นเลิศออกสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

 

ดังนั้น งาน Thailand Future Careers 2023 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและศึกษาความต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อกำหนดความต้องการในการผลิตบัณฑิตศึกษา (New Skills) ทุกปี ให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงร่วมกันออกแบบหลักสูตรระหว่างภาคธุรกิจกับผู้เชี่ยวชาญการศึกษา และรวบรวมความต้องการกำลังคนของภาคธุรกิจในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการวางแผนผลิตบุคลากร และป้องกันการผลิตบุคลากรเกินความต้องการ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติและการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาร่วมกัน ซึ่งจะออกมาเป็นนโยบายและกรอบทิศทางในการพัฒนาภาคอุดมศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมต่อการผลิตกำลังคนอย่างยั่งยืน  

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมของการอุดมศึกษา ในการการสร้างและพัฒนาบัณฑิตที่นำไปสู่การตอบโจทย์ตลาดแรงงาน จะมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีการบูรณาการความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติจริง โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ และส่งเสริมการจัดการศึกษาที่บูรณาการร่วมกับการทำงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะจากการฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมของภาคธุรกิจจริง เช่น การฝึกงานระยะสั้น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning, WiL) สหกิจศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะที่ตอบโจทย์การทำงานหรือการเป็นผู้ประกอบการ สามารถตอบสนองความต้องการของภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มากขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดงาน และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต มีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาลในการจัดการศึกษา ส่งต่อข้อมูลความต้องการด้านทักษะที่ตอบโจทย์สถานประกอบการสู่สถาบันอุดมศึกษา  รวมถึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาโดยการจัดทำมาตรการจูงใจและสิทธิประโยชน์สำหรับสถานประกอบการที่ร่วมลงทุนและร่วมจัดการศึกษา 

 

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนจะต้องวางแผนและกำหนดกรอบยุทธศาสตร์หาแนวทางการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาต่อการสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพก้าวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad