หุ่นยนต์การแพทย์ (Medical Robotics) กับ อนาคตของเฮลท์แคร์ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564

หุ่นยนต์การแพทย์ (Medical Robotics) กับ อนาคตของเฮลท์แคร์

 


   ในงาน มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ หรือ BCG Health Tech Thailand 2021 ครั้งแรกในประเทศโดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน และเวทีสัมมนา “Digi-Health Tech for Smart Hospital” จัดโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) พันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 150 หน่วยงาน จาก เขตเศรษฐกิจ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

            รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง หุ่นยนต์การแพทย์กับอนาคตของเฮลท์แคร์ ว่า ในสภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดโควิด-19 มาจนถึงการกลายพันธุ์เป็นไวรัสโอมิครอน เมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ของ ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ (2021 Global Health Security Index)’ จากจำนวน 195 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์ชั้นนำของโลก ซึ่งตนเองเคยได้มีโอกาสไปศึกษาด้านหุ่นยนต์การแพทย์ที่นั่น และเมื่อกลับมายังประเทศไทย จึงได้นำประสบการณ์ความรู้มาใช้พัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์และเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของไทย ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างทีมวิศวะมหิดลกับแพทย์ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง BARTLAB ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ ซึ่งนับเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทยที่พัฒนาหุ่นยนต์การแพทย์ที่ตอบสนองการใช้งานทางการแพทย์ได้จริง บทบาทหุ่นยนต์การแพทย์ไม่ได้มาทดแทนแพทย์ แต่เพื่อช่วยให้แพทย์ทำงานได้ดี แม่นยำและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น จากเดิมต้องใช้คนจำนวนมากในการผ่าตัด เมื่อใช้ระบบดิจิทัลและหุ่นยนต์ช่วยบริหารจัดการอุปกรณ์การผ่าตัดได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพปลอดภัย

            หุ่นยนต์แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1. หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่ใช้ในโรงงานและสายการผลิต 2. หุ่นยนต์บริการ ซึ่งมี 2 ประเภทย่อย คือ Professional Robotics หุ่นยนต์ใช้ในวิชาชีพต่างๆ และ Domestic Robotics หุ่นยนต์ใช้งานในบ้าน เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดของหุ่นยนต์บริการ เติบโตขยายตัวมากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของตลาดบริการเฮลท์แคร์ ไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจสุขภาพและความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาและต่อยอดประดิษฐ์หุ่นยนต์การแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจเฮลท์แคร์และการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

            ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้หุ่นยนต์บริการในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น เช่น หุ่นยนต์ขนส่งในคลังสินค้า ตอบโจทย์ความรวดเร็ว แม่นยำ การเว้นระยะห่าง ลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัส และลดมลพิษ ด้านหุ่นยนต์การแพทย์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีการนำมาใช้ในระบบบริการเฮลท์แคร์และบำบัดรักษาของโรงพยาบาลชั้นนำมากมายแสดงถึงการเป็นที่ยอมรับของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ด้วยจุดเด่นของความแม่นยำช่วยให้แพทย์ทำงานผ่าตัดได้อย่างมีข้อมูลถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ตัวอย่างหุ่นยนต์ที่คณะวิศวะมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ได้พัฒนาขึ้น เช่น ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดเนื้องอกในต่อมใต้สมองผ่านกล้องทางช่องรูจมูก ซึ่งประกอบด้วย ระบบนำทาง 3 มิติ และหุ่นยนต์ผ่าตัด โดยก่อนผ่าตัดจะนำภาพจาก CT SCAN มาสร้างโมเดลจำลอง 3 มิติ บริเวณที่จะผ่าตัดพร้อมระบบกล้องแบบเรียลไทม์ติดตามเครื่องมือผ่าตัด รวมทั้งพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งมีการถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์และใช้เป็นแนวทางให้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดตามที่วางไว้

        ทีมวิจัยและนักศึกษาวิศวะมหิดลได้สร้างสรรค์ หุ่นยนต์ Telemedicine สำหรับขนส่งยา-อาหาร แพทย์สามารถพูดคุยกับคนไข้ผ่านจอภาพของหุ่นยนตื และสร้างหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างต่อเนื่องจนมาถึงซีรีย์ปัจจุบัน  ช่วยให้ผู้ป่วยในขณะนั่งสามารถลุกขึ้นยืนได้ นอกจากนี้เรายังประสบผลสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ปลูกถ่ายผม (Hair Transplant Robotics) ด้วยเทคโนโลยี FUE เป็นรายแรกในประเทศไทยโดยสามารถปลูกถ่ายเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าแบบเดิม

            จะเห็นว่าหุ่นยนต์การแพทย์และระบบอุปกรณ์อัจฉริยะเป็นแนวโน้มสำคัญของโรงพยาบาลอัจฉริยะ ยกระดับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์และเครื่องมือแพทย์ของไทย โดยมีเทคโนโลยีสื่อสาร 5G 6G ช่วยเพิ่มศักยภาพของ IoT ในการส่งข้อมูลขนาดใหญ่และทำงานได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดและทำให้ Telemedicine มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นจริงและใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง ช่วยยกระดับบริการเฮลท์แคร์ของโรงพยาบาล และเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน  ในอนาคตวงการเฮลท์แคร์จะเปลี่ยนโฉมไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกลงและดีขึ้น เช่น AR/VR Metaverse จะยิ่งเข้ามามีบทบาทต่อการฝึกสอนแพทย์ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad