สรท. คาดส่งออกติดลบต่อเนื่อง ร้องรัฐเพิ่มมาตรการช่วยเหลือทางการเงินผู้ประกอบการ - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สรท. คาดส่งออกติดลบต่อเนื่อง ร้องรัฐเพิ่มมาตรการช่วยเหลือทางการเงินผู้ประกอบการ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน และนางจินตนา ศิริสันธนะ เลขาธิการ ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.30-12.00 น. ระบุการส่งออกเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า มีมูลค่า 16,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -23.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ ล้านบาท 520,608 หดตัว -23.06% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 14,833 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -18.05 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 475,986 ล้านบาท หดตัว -17.94% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมิถุนายน 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,610  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 44,621 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมิถุนายนการส่งออกหดตัวร้อยละ -17.20) ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- มิ.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 114,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -7.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 3,562,327 ล้านบาท หดตัว -8.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -12.62 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 3,269,175 ล้านบาท หดตัว -13.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- มิ.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 293,152 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – มิ.ย. การส่งออกขยายตัวร้อยละ -8.35)
การส่งออกในเดือนมิถุนายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย สินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ -25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ
ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -10% (ณ สิงหาคม 63) บนสมมติฐานค่าเงิน 31.5 (+-0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2563 = 31.232 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.87 – 31.73 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1) การส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ work from home ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋องและแปรรูป เนื่องด้วยความกังวลในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนมีอุปสงค์ในการสำรองสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพในช่วงการ lockdown รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งบ้าน และ 2) ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด–19 โดยเอกชนมีความคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนจะพร้อมใช้งานได้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น 
ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง โดยเฉพาะสหรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ อาทิ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เป็นต้น ทำให้หลายประเทศยังคงต้องดำเนินมาตรการ Lockdown ต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศต่างๆทั่วโลก 2) สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ 2.1)  สหรัฐอเมริกาและจีน มีการประกาศนโยบายตอบโต้ระหว่างกัน อาทิ การปิดสถานกงสุล (โดยสหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ขณะที่จีนโต้ตอบด้วยการปิดสถานกงสุลประจำนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน) รวมถึงการประกาศมาตรการคว่ำบาตรบุคลากรระดับสูงเพื่อตอบโต้ระหว่าง 2 ชาติ 2.2) จีนและสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรประกาศห้ามการใช้อุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบ 5G ของอังกฤษและมีคำสั่งระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง จากการที่ก่อนหน้ารัฐบาลอังกฤษได้เปิดตัวข้อเสนอในการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวฮ่องกงที่ถือพาสปอร์ตแบบ British National Oversea 3) ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2562 จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ถูกกดดันโดยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ กลุ่มพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึงร้อยละ 12 ให้มีทิศทางการส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการส่งออกที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากผลของสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์รอบที่ 2 ภายในประเทศและเสถียรภาพทางด้านการเมือง 5) การขาดสภาพคล่องการเงินของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับผลของการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้าจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการเข้าถึงวงเงินสินเชื่อเพื่อดำรงสภาพคล่องในธุรกิจของตน และ           6) ปัญหาด้านโลจิสติกส์ แม้ว่าเริ่มมีการผ่อนคลายจากการ lockdown แต่อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคจากระวางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีจำกัด ค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน
ข้อเสนอแนะที่สำคัญโดย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 
ด้านการเงิน 1) เร่งรัดการดำเนินมาตรการเยียวยาด้านการเงินสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเสนอให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ต้องเข้ามาเพิ่มการค้ำประกันให้กับการกู้เงินของภาคเอกชนจากธนาคารพาณิชย์ เป็นรายบริษัท ทั้งนี้ ต้องสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมให้กับ บสย. เพื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ 2) ขอให้ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ เข้าใจความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และมุ่งดำเนินการให้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง อาทิ รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ระดับ 34 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และผ่อนปรนนโยบายการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Soft loan) และขอให้มีการขยายอายุของ พรก.เงินกู้ฯ ให้เป็น 5 ปี 
ด้านการบริหารจัดการน้ำและยกระดับภาคการเกษตร 1) ให้ความสำคัญกับในระบบการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานให้มากขึ้น ทั้งจากภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมเฉียบพลัน เพื่อรักษาปริมาณผลผลิตสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2) สนับสนุนโครงการการเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด (ความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์/กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) – ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในทางปฏิบัติมากขึ้นทั้งในส่วนของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งห่วงโซ่การผลิต รวมถึงควรเร่งยกระดับภาคเกษตรไปสู่ Smart farming, Big Data ให้สามารถทำเกษตรแปลงใหญ่และให้ผลผลิตต่อไร่สูงได้
ด้านกฎระเบียบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ 1) ควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบซึ่งล้าสมัย อาทิ 1) กำหนดให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นบริการควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ. ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการส่งออกนำเข้า 2) บังคับใช้ พรบ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เพื่อป้องกันผู้ส่งออกนำเข้า จากการเอาเปรียบโดยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศซึ่งมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า โดยเฉพาะในกรณีซึ่งคู่ค้าเป็นผู้กำหนดเลือกผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 3) กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าระวางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ใช้บริการผ่านผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 4) กำหนดแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรให้ผู้ส่งออกนำเข้าสามารถชำระค่าระวางและค่าสินค้าและบริการภายในประเทศ ให้กับกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเชนระหว่างประเทศเป็นเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้น้อยลง 5) แก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 19 และ 20 โดยกำหนดความสูงของรถบรรทุกตู้สินค้าแบบ High Cube และ Car Carrier ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในปัจจุบัน 6) แก้ไขประกาศกรมศุลกากรที่ 139/2560 ให้สามารถ Consolidate สินค้าของผู้ประกอบการไทยซึ่งลงทุนในประเทศกัมพูชา ซึ่งขนส่งเข้ามาเพื่อบรรจุตู้คอนเทนเนอร์รวมกับสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกในประเทศไทย ณ ไอซีดีลาดกระบัง หรือไอซีดีอื่นซึ่งอาจสร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต 7) แก้ไขประกาศศุลกากร 141/2560 เรื่อง “พิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ให้ครอบคลุมการขนส่งทางราง และให้เอกชนสามารถเข้าดำเนินการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศได้ 8) แก้ไขกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่ให้บริการผ่าน National Single Window (NSW) ให้รองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยสมบูรณ์ เพื่อลดปริมาณเอกสารกระดาษ และการป้อนข้อมูลซ้ำซ้อนหลายครั้ง 9) ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร ลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า ลดภาษี และลดต้นทุนการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร อาทิ 9.1) ยกเว้นการพิจารณา AD Tin Plate เพื่อให้นำเข้าได้เพียงพอต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ภายในประเทศ 9.2) ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำผลไม้ 100% 9.3) ยกเลิกโควตาและข้อห้ามการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการเพาะปลูกในภาคเกษตร การผลิตอาหารสัตว์ สำหรับการปศุสัตว์ และการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะรายการซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตเองได้ หรือต้องนำเข้าเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันฝรั่ง ปลาทูนา กุ้ง ปุ๋ย เป็นต้น 10) อนุญาตให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการผลิตและส่งออกแต่ไม่สามารถส่งออกได้ตามที่กำหนดจากผลกระทบของ COVID-19 สามารถขายสินค้าในประเทศได้โดยไม่เสียสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการสินค้าภายในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการผลิตภายในประเทศอย่างเพียงพอ 11) ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีเงินปันผลหรือรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ ที่นำกลับมาจากต่างประเทศ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการไทย เป็นต้น 
2) ยังไม่ควรบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ จนกว่าผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้ อาทิ 1) ชะลอการบังคับใช้ประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่อง “ให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A)” และตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 2) ทบทวนนโยบายกระทรวงคมนาคมการจำกัดเวลาเดินรถบรรทุกในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5    3) ทบทวนการเก็บภาษีความหวานและนโยบายการเก็บภาษีความเค็ม เพี่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนในปัจจุบัน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad