รัฐผ่อนคลายมาตรการคุมราคา : อย่าตัดตอน ต้องมองทั้งห่วงโซ่การผลิต ศิระ มุ่งมะโน - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2565

รัฐผ่อนคลายมาตรการคุมราคา : อย่าตัดตอน ต้องมองทั้งห่วงโซ่การผลิต ศิระ มุ่งมะโน

 


นับเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ที่ภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานเสียงเตรียมเปิด “ไฟเขียว” ให้ปรับราคาอาหารสัตว์และยกเลิกอุปสรรค ทั้งมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองได้ แต่ขอเวลาพิจารณาต้นทุนที่แท้จริงก่อนให้มั่นใจว่าการปรับขึ้นราคาจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิต ตลอดจนผู้บริโภคต้องซื้อหาสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสมให้ผลประโยชน์สมดุล (win win)

 


อย่างไรก็ตาม ผู้คุมกฏทั้ง กระทรวงทราบดีว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องยอมให้ปรับราคาอาหารสัตว์ในครั้งนี้ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์พุ่งแรงเกินความคาดหมายไว้มาก จากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นตัวเร่ง ด้วยทั้งคู่ เป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี โดยรัสเซียและยูเครน มีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณ 29% และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 19% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ตามลำดับ สถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวยังส่งผลต่อราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างน้ำมันดิบทะยานสูงเกินกว่า 100 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาเรล โดยราคา ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 112-113 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาเรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ 115 ดอลล่าร์สหรัฐ/บาเรล หากสงครามไม่จบลงโดยเร็วระบบเศรษฐกิจจะต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตสูง (Cost Push Inflation)

 

ดังนั้น การบริหารจัดการต้นทุนในห่วงโซ่การผลิตอาหารให้สมดุลคือเป็นเป้าหมายสำคัญ การจะอนุมัติให้ปรับราคาจึงไม่ควรพุ่งเป้าไปที่อาหารสัตว์เท่านั้น แต่ควรมองยาวไปถึงราคาเนื้อสัตว์ด้วย กล่าวคือ เมื่อราคาอาหารสัตว์ปรับขึ้น หากเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรมตาม “กลไกการตลาด” ทุกฝ่ายก็อยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าอนุมัติตัดตอนให้ปรับราคาได้เฉพาะอาหารสัตว์ ขณะที่เนื้อสัตว์ยังถูกควบคุมราคาก็จะเป็นการผลักภาระให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงฝ่ายเดียว และต้องไม่ลืมว่าขณะนี้ภาคการผลิตต้องแบกภาระต้นทุนพลังงานสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกด้วย

 

ปัจจุบัน เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือภาครัฐเป็นอย่างดีในการตรึงราคาหน้าฟาร์มไว้ เพื่อให้ราคาขายปลีกถึงมือผู้บริโภคอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศตรึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 110 บาท/กก. มาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เพื่อร่วมแก้ปัญหาหมูขาด-หมูแพง สาเหตุจากโรคระบาด ASF ขณะที่ราคาเฉลี่ยขายจริงหน้าฟาร์มล่าสุด (วันพระที่ 10 มีนาคม 2565) อยู่ที่ 88-91 บาท/กก. ตามกลไกการตลาด

 


ส่วนไก่เนื้อ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตรึงราคาจำหน่ายไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มและราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นเวลา เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในระยะสั้น ด้านคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ ยังมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 กำหนดให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม โดยให้ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน โดยสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ตรึงราคาไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 40 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 38 บาท 

 


สำหรับไข่ไก่ สมาคมผู้ค้า ผู้ผลิตและส่งออกไข่ไก่ ล่าสุดแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ 3.20 บาท/ฟอง เริ่ม 1 มีนาคม 2565 โดยการปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มเป็นหลักปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับกระทรวงฯ มามากกว่า 10 ปี คือ ราคาขายไข่คละหน้าฟาร์ม จะไม่สูงเกินกว่า 20% ของต้นทุนอ้างอิงของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบัน คือ 2.94 บาทต่อฟอง ดังนั้น ราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ควรจะสามารถขายได้ คือ 3.50 บาท/ฟอง ขณะที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ร่วมกันตรึงราคาไว้ที่ 3.10 บาท/ฟอง เท่านั้น


 


ภาครัฐ ควรพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้และประสิทธิภาพของกลไกตลาดที่สามารถถ่วงดุลราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ โดยไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน เพื่อเป็นเหตุผลในการอนุมัติปรับราคาทั้งห่วงโซ่การผลิตแทนการตัดตอนบางช่วงซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับภาคการผลิต แต่อาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดการขาดแคลนอาหารในอนาคตได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งห่วงโซ่การผลิตอย่างละเอียด ให้ผู้ผลิตสามารถประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป ขณะที่ผู้บริโภคมีอาหารเพียงพอในราคาที่เหมาะสม./

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad